
คอลัมน์ : ห้อยหัววิเคราะห์ข่าว
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรมีแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อต่อกรกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการค้าโลก อันเป็นผลมาจากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ได้ใช้นโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (America First) ที่มุ่งเน้นปกป้องผลประโยชน์ของคนอเมริกัน ด้วยการเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับอเมริกา
ประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับที่ 10 ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับอเมริกา โดยระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายนของปี 2567 ไทยเกินดุลการค้ากับอเมริกาถึง 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าการเกินดุลการค้ากับอเมริกาเที่ยบกับปี 2566 ทั้งปีที่ 4.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ การขาดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนของรัฐบาลอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการเตรียมการรับมือกับการขึ้นกำแพงภาษีของอเมริกาที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก ผู้ผลิต รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน อันจะนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนทั่วไปที่มีต่อรัฐบาลและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดูได้จากตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากความกังวลที่มีต่อนโยบายของอเมริกาและผลกระทบที่มีต่อการค้าโลก โดยดัชนีหุ้น ณ วันที่ 10 มีนาคม ปิดที่ 1,177.44 จุด ลดลง 24.59 จุด หรือ 2.05% ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 34,000 ล้านบาท ถึงแม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทุ่มงบประมาณ 27,000 ล้านบาท แจกเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet แก่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน
โดยกรุงศรี รีเสิร์ช ได้ให้ความเห็นว่าประเทศไทยดูเหมือนจะเผชิญหน้ากับปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นจากการที่อเมริกาจะมีการเพิ่มภาษีนำเข้าและภาษีตอบโต้กับสินค้าที่ส่งออกจากไทย นอกจากนี้ ไทยยังจะต้องพบกับการทุ่มตลาดสินค้าที่ส่งออกจากประเทศจีนอีกด้วย เราจึงควรมีนโยบายเชิงรุกด้านการค้าและการต่างประเทศโดยเร่งเจรจ้าข้อตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าทั้งใหม่และเก่า รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพทางการแข่งขันทางภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าโลกซึ่งจะบานปลายในช่วง 4 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย

เร็วๆ นี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมมาตรการในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของทรัมป์ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการไทยและจะมีผลทำให้สินค้าจากประเทศจีนและประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ไหลทะลักเข้ามาในตลาดอาเซียนและในไทยมากยิ่งขึ้น โดยทางหอการค้าเสนอให้รัฐบาลเร่งตั้ง “ทีมพิเศษ” (Special Team) ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอำนาจสั่งการในระดับกระทรวง เพื่อวางแผนรับมือและกำหนดแผนเชิงรุกกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของนโยบายเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐกับทั่วโลก รวมถึงการกำหนดมาตรการในการรับมือและป้องกันการไหลทะลักของสินค้าจากจีนและประเทศอื่นๆ ที่อาจใช้ราคาเป็นกลยุทธหลักในการแข่งขันและบุกเข้าตลาดไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตรและอาหาร เป็นต้น
โดยมาตรการดังกล่าวจะเน้นควบคุมและกวดขันการนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่อาจไม่ได้คุณภาพ หรือสินค้าที่มีราคาถูกจนส่งผลต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม (Free and Fair Trade) ภาครัฐควรมีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าอย่างละเอียดก่อนอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดไทย โดยกำหนดให้สินค้าบางประเภทต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือหลบเลี่ยงภาษี ในส่วนของสินค้าที่ทะลักเข้ามาแล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการกวดขันเรื่องการลักลอบนำเข้าสินค้าโดยไม่เสียภาษี การตรวจสอบการใช้ราคาต่ำผิดปกติเพื่อทำลายการแข่งขัน รวมถึงการป้องกันการทุ่มตลาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศอย่างรุนแรง รัฐบาลยังควรทบทวนกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้เขียน รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการวางรากฐานทางอุตสาหกรรมเสียใหม่ ด้วยการเคลื่อนย้ายตนเองจากประเทศรับจ้างผลิต หรือ Original Equipment Manufacturer (OEM) ไปสู่ประเทศที่สามารถวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมได้ด้วยตนเอง โดยอาจเริ่มจากอุตสาหกรรมที่เรามีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก หรือแม้แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น รัฐบาลยังควรจัดสรรงบประมาณในภาคการศึกษา โดยเฉพาะในด้านอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับทักษะของประชากรให้ตอบรับกับภูมิทัศน์อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป การปรับพื้นฐานทางอุตสาหกรรมดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สามารถยืนได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพานักลงทุนต่างชาติ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ผู้เขียน : ดร.ขวัญชัย รุ่งฟ้าไพศาล อดีตบรรณาธิการ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี