รัฐบาล โต้ มูดี้ส์ ปรับเรตติ้ง ไทย “ติดลบ” ชี้ เร็วเกินไป ไทยโตได้อีก

รัฐบาลออกโรงโต้ มูดี้ส์ หลังปรับเรตติ้ง ไทย เหลือแรงก์ “ติดลบ” ชี้ ตัดสินใจเร็วเกินไป ลั่น “ไทยยังโตได้มากกว่านี้”

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงบริษัท เอกชนที่รับจัดอันดับต่างๆ อย่าง บริษัท มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ออกมาปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงไปหนึ่งระดับ แต่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินบาท แบบไม่มีหลักประกันของไทย อยู่ที่ระดับ Baa1 และคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะสั้น สกุลเงินต่างประเทศของไทยอยู่ที่ระดับ P-2

โดย มูดี้ส์ ระบุว่าการปรับลดมาจากมาตรการ เรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเก็บภาษีเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการวิเคราะห์คาดการณ์ของบริษัทเอกชนอย่างมูดีส์ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายในทุกประเทศทั่วโลก เพราะปัจจัยที่ปรับลด มูดี้ส์เองก็ระบุว่ามาจากกำแพงภาษีของสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยนี้จะทำให้บริษัทเอกชนที่จัดอันดับ จะปรับลดอีกหลายประเทศจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบเดียวกัน

นายจิรายุ ระบุว่า การปรับลดครั้งนี้เร็วเกินไป เพราะทั้งประเทศไทยและประเทศทั่วโลกก็อยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุย ยังไม่มีผลใดๆ ออกมาชัดเจน หากผลออกมาเป็นบวก มูดี้ส์ จะปรับอย่างไร

ในปัจุบัน มีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แบบมูดี้ส์ ทั้งในระดับ โลกจำนวนมาก อาทิ Kroll Bond Rating Agency, CRISIL (Credit Rating Information Services of India Limited), Japan Credit Rating Agency (JCR) , S&P Global Ratings และ ภูมิภาคมากกว่าร้อยบริษัท และชุดข้อมูลที่ปรับลดเป็นเรื่องเดียวกันทั่วโลก ที่เกือบทุกประเทศได้รับผลระทบนี้

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในการรับมือแล้วในทุกมิติในเรื่องกำแพงภาษี ขณะที่นโยบายการกระตุ้นเศษฐกิจในครึ่งปีหลังนี้จะเน้นเครื่องยนต์ใหญ่สำคัญ 4 เครื่อง ที่รัฐบาลจะออกมากระตุ้น อาทิ การบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศ การค้าต่างประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุน ซึ่งรวมถึงการลงทุนภาคเอกชน(Private Investment) และการลงทุนภาครัฐ

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า รายงานของมูดี้ส์ ยังให้ความเชื่อมั่นด้วยการคงอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ Baa1 ซึ่งสะท้อนถึงสถาบันการเงินและระบบธรรมาภิบาลของไทย ที่ยังมีความแข็งแกร่ง ความสามารถในการชำระหนี้ได้ดี และสถานะด้านต่างประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงการมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศในระดับสูง

ทำให้เห็นว่าแม้ทั่วโลกจะโดนปัญหารุมเร้าจาก นโนบายภาษีสหรัฐ ฯ แต่เชื่อมั่นว่าในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อสถานการณ์คลี่คลายประเทศไทยจะมี GDP ที่ดีขึ้น แม้ว่าจากเดิมในปีที่ผ่านมา “มูดี้ส์ ”คาดการณ์ไว้ว่า ไทยจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.9 แต่เมื่อมีเหตุการณ์สหรัฐฯ ก็ปรับลดการคาดการณ์ไว้ที่ 2.0 ซึ่งประเทศไทยยังถือเป็นตัวเลขที่อยู่ในกราฟ GDP เติบโต ไม่ได้ติดลบเหมือนบางประเทศ ทำให้มั่นใจว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาลในครึ่งปีหลังนี้จะ ทำให้ GDP ของประเทศมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นอย่างแน่นอน