
จากการประเมินภาวะเศรษกิจไทยของหลายสำนักต่างพยากรณ์ว่า “จีดีพี” ปีนี้ ของไทย จะมีอัตราการขยายตัวเท่าไหร่ และส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทยหาเช้ากินค่ำอย่างไรบ้าง
“ทีมเศรษฐกิจอีจัน” ในฐานะที่ติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง พบว่า ตัวเลขสำคัญบ่งชี้ ว่า ชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องชาวไทยดีมากน้อยแค่ไหน วัดได้จาก “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” หรือ จีดีพี ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทย ในปีนี้ ขยายตัว 2.3% ลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโต 2.9%
แต่ตัวเลขจีดีพี ของ ธปท. 2.3% ก็ยังไม่ใช่ตัวเลขต่ำที่สุด เพราะยังมีสำนักวิจัยอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาหั่นตัวเลขการเติบโตล่าสุดเหลือเพียง 1.5%
ขณะที่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยทั้งปี ขยายตัว 1.8% แลฃะสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่รวบรวมตัวเลขจริงและน่าเชื่อถือมากสุด ระบุว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายมีอัตราการเติบโต 1.3-2.3% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.8%
*****
ทั้งนี้ จากการรวบรวมตัวเลขเศรษฐกิจ จากสำนักต่าง ๆ พบจุดที่น่าสนใจคือ โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเกินกว่า 2% มีน้อยมาก ภายใต้ปัจจัยลบที่รุมเร้ามากกว่าปัจจัยบวก รวมถึงความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในหลายภูมิภาค รัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-อิหร่าน สหรัฐ-จีน ไทย-กัมพูชา
ขณะที่ ปัญหาภายในประเทศ กรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องคลิปเสียงสนทนากับ อังเคิล-ฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงอาการป่วยทิพย์อยู่ชั้น 14 โรงพยายาลตำรวจ รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) “อุ๊งอิ๊ง” ที่ทำให้แตกหักกับพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทยถอนตัวทำให้เสถียรภาพทางการเมืองสั่นคลอน
จนนำไปสู่ความไม่มั่นใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนในตลาดหุ้น ณ วันที่อุ๊งอิ๊งเข้ารับตำแหน่งนายกฯ วันที่ 16 ส.ค. 2567 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,303 ร่วงลงมาอยู่ที่ 1,121 .13 จุด ณ วันที่ 16 ก.ค. 2568 หายไปเกือบ 200 จุด


ขณะที่ภาคต่างประเทศก็มีแรงกดดันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หลังจากประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 ประกาศกร้าวเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศในอัตราสูง เพื่อดัดหลังประเทศคู่ค้าที่เอาเปรียบสหรัฐมานาน เช่น จีน เลโซโท กัมพูชา ลาว มาดากัสการ์ เวียดนาม เมียนมา ศรีลังกา ซีเรีย มอริเชียส ไต้หวัน แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย บรูไน เป็นต้น
โดยเฉพาะสหรัฐเรียกเก็บภาษีจากจีนสูงถึง 34% ขณะที่จีนก็ประกาศตอบโต้โดยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐสวนมัดยักษ์ชนยักษ์โดยไม่หวั่นเกรงใด ๆ จนนำไปสู่สงครามการค้าที่ส่งผลไปทั่วโลก เกิดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน
ขณะที่ ประเทศไทยเอง ก็เป็นหนึ่งใน 120 ประเทศที่ถูกรีดภาษีอัตราสูงด้วยเช่นกัน โดยถูกประธานาธิบดีสหรัฐเรียกเก็บภาษีถึง 36% และยังติดอยู่ 1 ใน 4 ของอาเซียนที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงสุด รองจากลาวที่ถูกจัดเก็บภาษี 48% เมียนมา 44%
โดยประเทศที่เจรจาสำเร็จแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อังกฤษ ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งการค้ากับไทยได้ข้อสรุปการเจรจาทางการค้าเร็วที่สุด โดยสินค้าจากเวียดนามส่งไปสหรัฐเสียภาษีในอัตรา 20% กรณีสินค้าสวมสิทธิ์เสียภาษี 40% ขณะที่สินค้าจากสหรัฐส่งมาเวียดนามเสียภาษีในอัตรา 0%
ขณะที่อินโดนีเซีย ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาประกาศ ……. ว่า ได้ข้อตกลงกับทางประเทศอินโดนีเซีย เรียบร้อยแล้ว โดยสหรัฐจะได้รับการยกเว้นภาษีเหลือ 0% จากสินค้าที่ส่งไปสหรัฐฯ และสหรัฐจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากอินโดนีเซีย 19%

ขณะที่ ผลการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐล้มเลว ต้องกลับไปนั่งนับหนึ่งใหม่ แม้ว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง หัวเรือหลักที่นำทีม “คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ” หรือ ทีมไทยแลนด์ ลงทุนเดินทางไปถึงสหรัฐเพื่อเจรจาเรื่องดังกล่าวเหมือนกัน แต่ผลลัทธ์ ไม่เป็นดั่งที่หวังไว้ นายพิชัยต้องกลับบ้านด้วยมือเปล่า เพียงแค่เหตุผลง่าย ๆ ว่า ข้อเสนอใหม่ที่ไทยส่งไปให้สหรัฐนั้น ยังไม่ถึงมือ “ทรัมป์” ทำให้ไทยอยู่ในลิสต์ถูกเก็บภาษีให้อัตราเดิมและไม่เปลี่ยนแปลงคือ 36%
กลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่ประเทศไทยต้องนำกลับมาทบทวนทั้งหมด แล้วเสนอใหม่ ไปเป็นรอบที่ 3 เพื่อให้ทางสหรัฐพิจารณาภาษีรอบใหม่ให้ทันเส้นตายวันที่ 1 ส.ค. นี้ ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นนับจากนี้ ไปสำนักวิเคราะห์ อาทิ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกระทบด้านภาคการส่งออก และภาคการผลิต สินค้าหลักที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ชิ้นส่วนโทรศัพท์ HDD หม้อแปลงไฟฟ้า และเครื่องพิมพ์ ซึ่งอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีภาษีต่ำกว่า เช่น เวียดนาม แต่ยังมีสินค้าอื่น ที่แม้จะโดนภาษีสูง แต่ไทยยังพอแข่งขันได้ เช่น ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อาหารสัตว์และข้าว ด้านการนำเข้าและการลงทุนเกิดการชะลอตัว และความไม่แน่นอนดังกล่าว ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบลดลง มีผลกระทบต่อโลจิสติกส์และคลังสินค้า
ขณะที่การลงทุนโดยตรง (FDI) อาจย้ายไปประเทศอื่นในอาเซียน ส่งผลต่อการเติบโตระยะยาวของไทย รวมถึงไทยต้องเร่งปรับนโยบายเชิงรุก ควรเน้นการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มในประเทศ ลดอุปสรรคการลงทุน และเจรจาการค้ากับสหรัฐอย่างมียุทธศาสตร์ พร้อมเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งลดการผูกขาดในประเทศ ขณะเดียวกันไทย ต้องลดการส่งออกศูนย์เหรียญ หรือสินค้าสวมสิทธิ์ ที่ใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออก และไทยต้องเร่งหาตลาดใหม่ที่กระทบน้อย เช่นตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และยุโรป
ขณะที่เดียวกัน รัฐบาลต้องเร่งสรุปพบ การเจรจาเขตการค้าเสรีกับยุโรป (FTA) และความตกลงการค้าเสรีของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หาทางเร่งตลาดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ใช้อาเซียนเป็นที่พึ่งในการเจรจาการค้ากับสหรัฐ
ขณะที่ นายเกียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็เป็นห่วงไม่แตกต่างกัน แม้ภาคการเกษตรมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของจีดีพี แต่มีประชาชนที่เกี่ยวข้องและ เป็นเกษตรกรจำนวนมากถึง 20 ล้านคน กลายเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีการประเมินว่า หากมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เข้ามากระทบอีก โดยเฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศ กรณี รุนแรงถึงขั้นยุบสภา จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถผลักดันการใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ได้ และจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 1% จากเดิมที่ประเมินไว้ ขยายตัว 1.7%
ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีจากนี้ไป เศรษฐกิจยืนอยู่ท่ามกลางความท้าทายอย่างมาก แม้ว่า รัฐบาลจะไฟเขียว ผ่านงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.574 แสนล้านบาท เพื่อรองรับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งในจำนวนนี้ ได้มีการกันเงินไว้ 50,000 ล้านบาท เพื่อรับผลกระทบภาษีทรัมป์
“ทีมเศรษฐกิจอีจัน” เชื่อว่า งบประมาณที่เตรียมไว้ 50,000 ล้านบาท ไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ มีความรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่เหมือนจะฟื้นตัวได้ดี แต่ยังเปราะบาง และพร้อมที่จะทรุดตัวอย่างหนัก หากภาคการส่งออกของไทยถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีส่งออก เต็มอัตราสูงสุด 36% ซึ่งจะส่งผลต่อสินค้าส่งออกของไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยประชาชนระดับรากหญ้าและเกษตรกร ที่มีมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งยังเป็นกลุ่มเดียวกับคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว สะท้อนให้เห็นว่า รายรับน้อยกว่ารายจ่าย
ขณะที่ค้าครองชีพ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในอาการโคม่า ห้าง ร้าน ปิดกิจการ สภาพคล่องในกระเป๋าหดหาย จำนวนการทำงานล่วงเวลา หรือ โอที ลดลง สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสัญญาณร้ายต่อเศรษกิจไทยที่อาจยังไม่เห็นภาพชัดเจนในครึ่งปีแรกที่ผ่ารนมา
แต่เชื่อเถอะว่า ครึ่งปีหลัง และต่อเนื่องไปถึงปีหน้าว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะทรุดหนัก จีดีดีพีขยายตัวต่ำเพียง 1% หรือเกินกว่า 1% เล็กน้อย มีโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่เดียว