คืนนี้รู้เรื่อง! “พิชัย” นำทีมไทยแลนด์ถกสหรัฐ หวังหาช่องลดภาษี 36%

คืนนี้รู้เรื่อง! “พิชัย” นำทีมไทยแลนด์ถกสหรัฐ หวังหาช่องลดภาษี 36% ‘เผ่าภูมิ’ ชี้ต้องรักษาสมดุลทั้งส่งออก-ผู้บริโภค

วันนี้ 17 ก.ค. 2568 ที่กระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในคืนวันนี้ ( 17 ก.ค. 68)  นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ จะนำข้อเสนอของไทยไปพูดคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)

ส่วนวางเป้าลดอัตราภาษีตอบโตจาก 36% ลงมาเป็น 18% จริงหรือไม่นั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ไม่อยากให้พูดถึงเป้าดังกล่าว เราจะต้องทำให้ดีที่สุด โดยหากพูดถึงนโยบายภาษีสหรัฐนั้น นอกจากผลกระทบผู้ส่งออกแล้ว ในประเทศยังมีประชาชนส่วนสำคัญ เช่น เกษตรกร ปศุสัตว์ เอสเอ็มอี ที่จะได้รับผลกระทบหากเราแลกเงื่อนไขมากไป

“การเจรจาอย่ามองมิติเดียว ว่าผู้ส่งออกจะได้เท่าใด เราต้องมอง 2 มิติ สิ่งที่เราจะไปลดภาษีลง ก็แลกมาด้วยสิ่งที่เราต้องเปิดมากขึ้น ซึ่งจะมีผู้เดือดร้อนมากขึ้น โจทย์สำคัญคือการสร้างจุดสมดุล ผู้ชนะไม่ใช่คนที่ได้เรทที่ต่ำที่สุด แต่เป็นคนที่สามารถรักษาสมดุลได้มากที่สุด” นายเผ่าภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ไทยสามารถทำแบบเวียดนามได้ โดยยื่นข้อเสนอการเปิดตลาดนำเข้าภาษี 0% ทั้งหมดได้ (Total access tariff) แน่นอนว่า ไทยจะได้เรทภาษีที่ต่ำ แต่หากถามว่าคุ้มหรือไม่ ทีมเจรจาก็ต้องมาช่างน้ำหนัก ระหว่างความสมดุลเหล่านี้ ซึ่งในฐานะรัฐบาลต้องดูแลคนทั้งประเทศ แน่นอนว่า ภาคส่งออกมีผลต่อจีดีพีสูงกว่า แต่ในประเทศก็มีประชาชนที่มากเช่นเดียวกัน รัฐบาลกำลังดูแลผลกระทบทั้ง 2 ฝั่งให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตามรัฐต้องหาจุดสมดุลที่สุด โดยภาษีบางรายการที่ไทยไม่สามารถลดให้ 0% เพื่อกันไว้สำหรับผู้ผลิตสินค้าในประเทศ หากเราเปิดมากเกินไป อาจจะกระทบผู้ประกอบการในประเทศ ดังนั้นจะต้องมีบางส่วนที่เรากันไว้สำหรับเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ของประเทศ

สำหรับเวียดนามนั้นเราชอบพูดถึงตัวเลขภาษีที่ 20% แต่จริงแล้วเวียดนามมี 2 เรท คือ 20% และ 40% โดยใช้เกณฑ์สัดส่วนสินค้าที่มีส่วนประกอบในประเทศหรือภูมิภาค (Regional Value Content: RVC) เป็นตัวแบ่ง โดยหากสินค้ามีสัดส่วน RVC สูงก็จะได้อัตราภาษีที่ 20%  และ หากสินค้ามี RVC ต่ำก็จะได้อัตราภาษีที่ 40%

“ตอนนี้เวียดนามโดนอัตราภาษี 40% มากกว่า 20% เพราะเวียดนามเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการผลิตในประเทศไม่สูง มีการนำเข้ามาเพิ่มมูลค่าในประเทศก่อนส่งออกไปมากกว่า ดังนั้นหากเทียบกับไทยที่ผลิตในประเทศและภูมิภาคสูง ซึ่งหากขีดเส้นที่อัตราเท่ากันไทยจะได้เปรียบกว่า ดังนั้นก็อยู่ที่การเจรจา” นายเผ่าภูมิ ระบุ