“มนพร” โต้เสียงต้าน รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย แจงคืนสิทธิ์ให้คนกรุง 

“มนพร” โต้เสียงต้าน รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย แจงคืนสิทธิ์ให้คนกรุงและคน ต่างจังหวัดในเมืองหลวง

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีข้อกังวลนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ว่า ข้อกังวลที่ว่ารัฐบาลใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนต่างจังหวัดเพื่อพัฒนาระบบขนส่งในกรุงเทพฯ นางมนพรชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะประเทศไทยใช้ระบบการบริหารงบประมาณแบบรวมศูนย์ และในปีงบประมาณ2567 กรุงเทพมฯ เป็นพื้นที่ที่สามารถจัดเก็บรายได้ภาษีคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 48–49% ของทั้งประเทศ ดังนั้นการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ จึงเป็นการคืนประโยชน์ให้กับพื้นที่ที่มีบทบาทในการสร้างรายได้ของประเทศ

“ผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจึงไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม” นางมนพรกล่าว

สำหรับแผนงานต่อเนื่องในการพัฒนาระบบฟีดเดอร์ (Feeder) โดยจะทยอยจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) ทดแทนรถ ขสมก. เก่าอายุใช้งานกว่า 30 ปี ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าลดมลพิษฝุ่น PM2.5 และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

“นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล นโยบายนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของค่าโดยสาร แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ และขยายโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ”

นางมนพร กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวได้รับการผลักดันตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีและต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.วัฒนธรรม โดยได้เริ่มนำร่องในปี 2566 ใน 2 เส้นทางคือ รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง ซึ่งพบว่ามีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง30% แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้บริการของประชาชน และประสิทธิภาพของนโยบายในการลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง

“บางคนมีเงิน 100 บาท เมื่อสามารถนั่งรถไฟฟ้าตลอดสายในราคา 20 บาท ก็จะเหลือเงินสำหรับการเดินทางกลับและใช้จ่ายอย่างอื่น ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้อีกทางหนึ่ง” 

ทั้งนี้ในส่วนของการผลักดันนโยบาย 20 บาทตลอดสายให้ครอบคลุมรถไฟฟ้าทุกเส้นทางทั่วกรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้มีร่างพระราชบัญญัติสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ร่างพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนหน้า

อย่างไรก็ดีรัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าในราคาย่อมเยา ลดภาระค่าครองชีพ และส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะอย่างยั่งยืน ขณะที่ผลลัพธ์ในระยะยาวยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสในสังคมอีกด้วย