เช็กเลย! เงื่อนไข ลงทะเบียนรับสิทธิ์ รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย

เช็กเลย! เงื่อนไข ลงทะเบียนรับสิทธิ์ รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย พร้อมขั้นตอนการชำระเงิน รัฐเตรียมเปิดให้ลงทะเบียนผ่านแอป “ทางรัฐ” 1 ส.ค. นี้ ก่อนเริ่มใช้สิทธิ์ 1 ต.ค. 68 – 30 ก.ย.​69

นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ใกล้เริ่มแล้ว ผู้โดยสารต้องลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านแอป “ทางรัฐ” เพื่อรับสิทธิ์ ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายตามราคาปกติ ขั้นตอน เงื่อนไขการลงทะเบียนต้องทำอะไรบ้างนั้น ทีมเศรษฐกิจอีจันได้สรุปมาให้แล้ว

เงื่อนไขลงทะเบียนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

ลงทะเบียนยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” (เพื่อให้ระบบสามารถจัดการค่าใช้จ่ายระหว่างผู้ให้บริการที่ต่างกันได้)

มีเลขประจำตัวประชาชนไทย 13 หลัก (นักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ได้รับสิทธิ์ตามนโยบายนี้)

กรอกหมายเลขบัตรประชาชนและกรอกข้อมูลบัตรที่จะใช้ชำระค่าโดยสาร

ขั้นตอนลงทะเบียนง่าย ไม่ซับซ้อนผู้โดยสารไม่มีบัตรที่รองรับหรือลงทะเบียนไม่ทันตามกำหนด จะต้องชำระค่าโดยสารในอัตราปกติ

รูปแบบการชำระเงิน (ระยะเริ่มต้น)

1.บัตรแรบบิท ใช้กับรถไฟฟ้า 4 สาย คือ สายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง และสายสีชมพู

2.บัตร MRT Plus ใช้กับรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง

3.บัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) Contactless Card (หรือบัตรเครดิต Visa/Mastercard) ใช้กับรถไฟฟ้า 6 สาย ได้แก่ สายสีแดง (แดงเข้ม-แดงอ่อน), สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู และสายสีเหลือง

4.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) รับเฉพาะบัตร ARL

5.สามารถใช้บัตรโดยสารที่ใช้อยู่เดิมได้ เพียงแต่ต้องลงทะเบียนบัตรเหล่านั้น ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐก่อนจึงจะได้รับสิทธิ์ 20 บาทตลอดสาย

โดยในอนาคตจะมีการเปิดระบบสแกน QR Code ในมือถือแทนการใช้บัตร เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน

เปิดให้ลงทะเบียนเดือน 1 ส.ค. 2568

เริ่มใช้สิทธิ์วันที่ 30 ต.ค. 2568 – 30 ก.ย. 2569

บัตรที่ได้รับการยืนยันการลงทะเบียนจะได้สิทธิ์โดยอัตโนมัติ เมื่อใช้งานหลังจากเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2568 โดยจะครอบคลุมทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียว สีทอง สีเหลือง สีชมพู สีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง และ สายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL)

เมื่อลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐแล้วในปีแรก ยังไม่สามารถใช้บัตรข้ามสายกันได้ ยังใช้บัตรเดิมของแต่ละสาย แต่ค่าโดยสารตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางที่มีการเดินทางข้ามสายจะสูงสุดไม่เกิน 20 บาท

อย่างไรก็ตามมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายนี้ในอนาคตจะครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 286.84 กิโลเมตร 193 สถานี ประกอบด้วย  รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน และแอร์พอร์ตลิงก์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย  รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเหลือง สายสีชมพู ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสุขุมวิท สายสีลม และสายสีทอง ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)