‘หนุ่มเมืองจันท์’ ถาม ตะหงิดใจไหม? ทำไมธนาคารไทย กำไรสูงเป็นประวัติศาสตร์

‘หนุ่มเมืองจันท์’ ถามดังๆ ตะหงิดใจไหม? ทำไมธนาคารไทย ฟันกำไรอ่วม 2.2 แสนล้าน สูงเป็นประวัติศาสตร์ ที่ว่า ‘เสือนอนกิน’ จึงไม่ใช่คำกล่าวหา

ช่วง 9 เดือนแรกของปี 66 (ม.ค.-ก.ย.) ธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 10 แห่งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยได้ส่งสัญญาณเชิงบวกให้เห็นในภาพรวมของผลประกอบการ โดยมีการประกาศกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ 186,559 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิเพียง 163,745 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของกำไรสุทธินี้ สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย และยังเป็นผลมาจาก NIM (ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่า ทั้งปี 66 ธนาคารเหล่านี้จะมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ประมาณ 202,183 ล้านบาท โตขึ้นถึง 18.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน นับเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์

จึงกลายเป็นประเด็นร้อน! ทำให้ นายสรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หนุ่มเมืองจันท์ ระบุว่า

“แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น-BBL แชมป์” เห็นพาดหัวข่าวของ “ประชาชาติธุรกิจ” วันนี้แล้วอึ้งเลยครับ ผมไม่รู้ว่า แบงก์ชาติ จะรู้สึกตะหงิดอะไรในใจบ้างไหม

1.ถ้าเศรษฐกิจดี ประชาชนมีกำลังซื้อ พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ ทุกธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น ธุรกิจแบงก์ที่เปรียบเสมือน “หัวใจ” สูบฉีดเลือดหรือเงินไปเลี้ยงร่างกายหรือภาคธุรกิจจะมีกำไรในสถานการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติร่างกายดี หัวใจก็ควรจะแข็งแรง

2.แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้แย่มาก แบงก์ชาติเพิ่งปรับลด GDP ปี2566 จาก 3.6% เหลือ 2.4% พ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของไม่ดี ธุรกิจเอสเอ็มอี 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 เลิกกิจการ 17,858 ราย เพิ่มขึ้นจากปี2565 ถึง 11% รถยนต์ถูกยึดเดือนละ 27,000 คัน เพราะคนผ่อนไม่ไหว

3.คนที่ยื่นเรื่องขอกู้ซื้อบ้านถูกแบงก์ปฏิเสธประมาณ 50% แต่ถ้าเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 1-3 ล้านบาท อัตราการกู้ไม่ผ่านสูงถึง 70% เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ค่าผ่อนบ้านต่อเดือนสูงขึ้นในขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม แบงก์ไม่ปล่อยกู้เพราะกลัวหนี้เสีย

4.ลำพังแค่เศรษฐกิจไม่ดี แต่แบงก์กำไรเพิ่มขึ้นก็ถือว่าผิดปกติแล้ว เหมือนร่างกายอ่อนแอ แต่หัวใจกลับแข็งแรง พอมาดูเหตุผลว่าทำไมแบงก์ไทยทำกำไรได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ตั้งแบงก์มา

นายสรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง

…ยิ่งน่าตกใจ รู้ไหมครับว่ากำไรที่สูงลิ่วของแบงก์มาจากอะไร “การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ” หรือ NIM ครับ หมายความว่าในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แบงก์ก็ขยับ “ส่วนต่าง” ของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ของแบงก์ไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม

จ่ายดอกเบี้ยคนฝากเงินน้อยๆ แต่ให้กู้แพงๆ ทำกำไรแบบง่ายๆ นักวิเคราะห์บอกว่าแบงก์ที่กำไรจาก “ส่วนต่าง” นี้มากที่สุด คือ แบงก์กรุงเทพ อย่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีของแบงก์กรุงเทพต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับแบงก์ใหญ่ทั้งหมด ตอนนี้อยู่ที่ 1.6% ในขณะที่แบงก์อื่นขยับขึ้นเป็น 2-2.2% แล้ว ที่มีคนกล่าวหาว่าแบงก์เป็น “เสือนอนกิน” จึงไม่ใช่คำกล่าวหา

5.ประเด็นสำคัญ ก็คือ หน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่รู้สึกว่าผิดปกติบ้างหรือครับ เมื่อ GDP ที่เป็นดัชนีบอกว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าไร แบงก์ชาติบอกว่าปี 2566 ประมาณ 2.4% แต่ธุรกิจธนาคารที่คุมระบบการเงินของประเทศเติบโตสูงถึง 18.5% หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึงเกือบ 8 เท่าตัว

ความผิดเพี้ยนแบบนี้รัฐบาลและแบงก์ชาติไม่รู้สึก “เอ๊ะ” อะไรบ้างหรือครับ “แบงก์ชาติ” นั้นเหมือนคุณหมอที่ดูแลเรื่อง “หัวใจ” เมื่อเห็นการทำงานของ “หัวใจ” เต้นผิดปกติแบบนี้ จะไม่คิดทำอะไรบ้างเลยหรือ หรือเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติของเศรษฐกิจประเทศที่แบงก์ชาติบอกว่า “กำลังฟื้นตัว”

6.บทความชิ้นนี้ถ้าใครอ่านแล้ว “เห็นด้วย” ท่านสามารถกดรูป “หัวใจ” หรือชมว่า “น่ารักมากค่ะ” ได้ด้วยความสบายใจ ผู้เขียนยืนยันว่าไม่คิดเป็นอื่นครับ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี 

ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กิตติรัตน์ ณ ระนอง – Kittiratt Na-Ranong ระบุว่า

ธุรกิจที่การแข่งขันต่ำ รวมหัวกัน “ทำกำไรสูง” บนความวินาศของลูกค้า… ถือว่าน่ารังเกียจนัก

และที่น่าตำหนิที่สุด คือ “ผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง” ที่(ไม่)กำกับดูแล

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้ทวีตข้อความ ว่า จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลาย ๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อ ประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับ เงินเฟ้อนะครับ”


ข่าวน่าสนใจอื่น: