คนไทยเชิดหนี้ทะลุ 1 ล้านล้านบาทอึ้ง! Gen Y ตัวท็อปเบี้ยวหนี้บัตรเครดิต

สภาพัฒน์ เปิดข้อมูลภาวะสังคมไทย พบหนี้ครัวเรือนพุ่ง 14.90 ล้านบาท ยอดเบี้ยวหนี้ทะลุ 1 ล้านล้าน Gen Y เบี้ยวหนี้บัตรเครดิต 3 ไตรมาสติด

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2565 พบว่า หนี้สินภาคครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 14.90 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จากไตรมาสก่อนที่ 3.5% ซึ่งอยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนขยายตัวในทุกประเภทสินเชื่อ โดยสินเชื่อที่มีการขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิต อยู่ที่ 21.4% และสินเชื่อส่วนบุคคล 11.8% โดยสินเชื่อบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดการใช้เงินสดมากขึ้น และเฉพาะลูกหนี้ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี มีสัดส่วนเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยขยายตัว 2.5% เพิ่มขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกัน

“ข้อมูลดังกล่าวมาจากฐานข้อมูลเครดิตบูโร (NCB) ซึ่งไม่ได้ระบุถึงสาเหตุหนี้เสียบัตรเครดิตของลูกหนี้อายุต่ำกว่า 30 ปีที่เพิ่มขึ้นได้ว่าเกิดจากอะไร จึงวิเคราะห์ได้ลำบาก เพราะมองว่ามาจากหลายเรื่อง หลายปัจจัย ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้จ่ายของแต่ละคน ที่อาจเกิดจากปัญหาเฉพาะหน้าของแต่ละคนด้วย”

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล ลูกหนี้ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนหนี้เสียค่อนข้างสูง โดยต่อบัญชีสูงถึง 77,942 บาท และต้องเฝ้าระวังสินเชื่อยานยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 30-49 ปี มีปัญหาในการชำระหนี้สูงสุด มีสัดส่วนหนี้เสียคิดเป็น 59.2% เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ

สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากโควิด-19 ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว โดยไตรมาส 3 ปี 2565 มีหนี้เสียรวม 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.2 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ล้านบัญชี จาก 2.7 ล้านบัญชีในช่วงเดียวกัน และกว่า 60% มาจากสินเชื่อส่วนบุคคล

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณผิดนัดชำระ และต้องมีมาตรการเจาะจงในการดูแลลูกหนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น การกำหนดสัดส่วนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เพื่อลดจำนวนหนี้เสียและรักษาลูกหนี้ให้อยู่ในระบบสถาบันการเงิน

คลิปอีจันแนะนำ
ปอ-โรเบิร์ต รับสารภาพทุกข้อกล่าวหา! คดีแตงโม