‘ไข่ไก่’ ขึ้นราคาแผงละ 6 บาท เริ่ม 15 พ.ค.66

ไข่ไก่แพงดั่งทอง เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ แจ้งขึ้นราคาอีกแผงละ 6 บาท เริ่ม 15 พ.ค.66

ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้สินค้าเกษตรขยับขึ้นราคา โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ค.66 เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด ได้ออกประกาศแจ้งสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์/ฟอง หรือ 6 บาท/แผง (30 ฟอง) จาก 3.60 บาท/ฟอง เป็น 3.80 บาท/ฟอง มีผลวันที่ 15 พ.ค.66 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง 

ซึ่งราคาดังกล่าว เป็นราคาที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ถัดจากเมื่อเดือน มี.ค.66 ที่มีการแจ้งปรับขึ้นราคาไข่ไก่ถึง 2 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยยืนยันกับผู้เลี้ยงสุกรว่า ราคาอาหารสัตว์จะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือกับผู้ผลิตแล้ว เพราะต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ราคาทรงตัว และบางรายการเริ่มปรับลดลง เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง

ส่วนราคาไก่ ปรับขึ้นเล็กน้อย ไก่น่องติดสะโพก กิโลกรัมละ 85-90 บาท, ไก่เนื้ออก กิโลกรัมละ 75-85 บาท, ไข่ไก่ เบอร์ 3 เฉลี่ยฟองละ 3.81 บาท ส่วนผักสดปรับราคาขึ้นบ้าง เพราะอากาศร้อนและแล้ง ทำให้ผลผลิตโตช้า แต่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วๆ นี้

ขณะที่ ราคาหมูเนื้อแดงลดต่อเนื่อง ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศกิโลกรัมละ 140-145 บาท ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ต้นทุนอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น กระทบต่อต้นการเลี้ยงสุกรมีชีวิต

เกียมใจ พรุ่งนี้ (23 มี.ค.66) ไข่ไก่ ขึ้นอีกแผงละ 6 บาท

ด้าน นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์ราคาผัก โดยทำงานใกล้ชิดกับตลาดกลาง พบว่า ผลผลิตบางรายการลดลง จากสภาพอากาศร้อนและแล้ง และพื้นที่เพาะปลูกบางแห่งประสบกับพายุฤดูร้อน ทำให้ผลผลิตผักออกสู่ตลาดน้อยลง แต่ขณะนี้เริ่มมีฝนตก คาดว่าสถานการณ์ผักจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติช่วงปลาย เดือน พ.ค.เป็นต้นไป

เช่น มะละกอ ราคาทรงตัว แต่ผลผลิตออกช้ากว่าปกติ, ผักชี ซึ่งเป็นผักไม่ชอบร้อนจัด แล้งจัด มีราคาสูงขึ้น แต่คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์จะดีขึ้น, กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ราคาทรงตัว

ส่วนมะนาว ขณะนี้ราคาเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกมากตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค.66 เป็นต้นไป เพราะผลผลิตไม่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน และราคาอาจปรับลดลงต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงจะเห็นได้สภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลผลิตการเกษตรโดยตรง เนื่องจาก 75% ของไทย เป็นการทำการเกษตรแบบอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ หลังจากนี้ จึงต้องจับตาว่า สินค้าเกษตรใด จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก