จะเกิดอะไรขึ้น หลังหมด มาตรการพักหนี้ มีเรื่องอะไรที่ควรรู้?

หลังสิ้นสุด มาตรการพักชำระหนี้ แบงก์ชาติมีมาตราการรองรับอย่างไร มีเรื่องอะไรบ้างที่ควรรู้?

จะเป็นอย่างไร? หากถึงเวลาสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ตามที่แบงก์ชาติออกมาตรการพักหนี้แก่ลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจะครบกำหนด 6 เดือนในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นั้น ในระยะต่อไป แบงก์ชาติจะเน้นแก้ไขปัญหาให้ลูกหนี้ SMEs แบบเชิงรุกและตรงจุด แทนการช่วยเหลือแบบทั่วไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบทางลบในระยะยาวแก่ลูกหนี้จากภาระดอกเบี้ย และส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยลูกหนี้ที่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้และมีรายได้เพียงพอจะจ่ายหนี้ได้ แนะนำให้กลับมาจ่ายตามปกติเพื่อลดภาระดอกเบี้ยในช่วงการพักหนี้ และยังทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นสำหรับปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ยังได้รับผลกระทบต่อไป

เหตุผลที่แบงก์ชาติเน้นแก้หนี้ให้ตรงจุด
  • ลูกหนี้มีแนวโน้มกลับมาช้ำระหนี้ได้ตามปกติมากขึ้น 

  • บรรเทาภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว

  • รักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน

โดยรูปแบบมาตรการบรรเทาภาระหนี้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของหนี้สินและเงื่อนไขของสถาบันการเงิน ถ้าเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลจะเป็นการลดยอดผ่อนชำระขั้นต่ำต่อเดือนจากเดิมร้อยละ 10 มาอยู่ที่ร้อยละ 5 ของยอดหนี้คงเหลือ และหากเป็นสินเชื่อที่ต้องผ่อนชำระรายเดือน เช่น สินเชื่อบ้านก็มีทั้งแบบพักชำระเงินต้น (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น) หรือพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงอาจมีการลดดอกเบี้ยและขยายเวลาการชำระหนี้ (เป็นรายกรณีไป) โดยแต่ละสถาบันการเงินอาจให้ระยะเวลาการพักชำระหนี้นาน 3-12 เดือน มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้กู้จ่ายค่างวดลดลงส่งผลให้มีสภาพคล่องมากขึ้น มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น และเมื่อพ้นระยะเวลาพักชำระหนี้หรือเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น จึงค่อยทยอยกลับมาชำระหนี้ที่พักไว้ให้กับธนาคารต่อไป

ทั้งนี้การพักชำระหนี้แม้ว่าจะจ่ายค่างวดลดลงในช่วงที่เข้าร่วมโครงการ แต่ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้กู้จะต้องจ่ายเมื่อระยะพักชำระหนี้สิ้นสุดลงหรือจ่ายต่อจากงวดการผ่อนสุดท้ายตามสัญญาเงินกู้นั้น ๆ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคาร ก่อนพิจารณาเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ผู้กู้ควรประเมินสถานการณ์การเงินของตนเองให้ดีก่อนตัดสินใจ

ถ้าสามารถบริหารจัดการเงินได้ด้วยการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นได้หรือไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่องมากนัก แนะนำให้จ่ายชำระหนี้แบบปกติ แต่หากขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ควรรีบติดต่อสถาบันการเงินเพื่อเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ จะได้ไม่ให้เสียประวัติผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินจะพิจารณาอนุมัติหรือไม่นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารที่กำหนดไว้ ที่สำคัญหากเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้แล้วควรวางแผนการจ่ายหนี้ที่พักไว้หลังจากพ้นระยะผ่อนผัน เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาหนี้พัวพันต่อเนื่องในอนาคต

สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ตามปกติ สถาบันการเงินยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอที่จะชำระหนี้ได้ โดยมีหลายมาตรการมารองรับ ได้แก่ การปรับเงื่อนไขการจ่ายหนี้ตามความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายเพื่อไม่ให้กลายเป็น NPL (หนี้เสีย) รวมถึงใช้มาตรการอื่นตามความเหมาะสม เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การพักชำระค่างวด รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย โดยลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ แบงก์ชาติได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 เพื่อไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL ในระหว่างนี้ นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทราบว่ามีภาคธุรกิจไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ หากลูกหนี้ที่มีปัญหาการติดต่อสถาบันการเงิน หรือยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันกับสถาบันการเงินได้ สามารถแจ้งความต้องการที่จะปรับโครงสร้างหนี้ไปยังสถาบันการเงินผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ขอบคุณข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย , กองทุนบำเน็ญบำนาญชราภาพ

คลิปอีจันแนะนำ
ดิว อริสรา ตอบเอง ประเด็นมีรถตำรวจนำรถสามี งานนี้สะเทือนตำรวจอีกครั้ง