สคร.เปิดชื่อรัฐวิสาหกิจ ท็อปฟอร์มเบิกจ่ายงบ 7 เดือน เฉียดแสนล้าน

‘สคร.’ เปิดชื่อรัฐวิสาหกิจ 7 เดือน (ต.ค.65-เม.ย.66) ท็อปฟอร์มเบิกจ่ายงบเฉียดแสนล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นองค์กรหลักในการบริหาร พัฒนา เพิ่มมูลค่ารัฐวิสาหกิจ และหลักทรัพย์ของรัฐ ตลอดจนดำเนินงานเกี่ยวกับการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน และหน้าที่อื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง

ขณะที่ ‘รัฐวิสาหกิจ’ คือองค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เป็นองค์การที่รับผิดชอบบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหารายได้ ต้องสามารถเลี้ยงตัวเองจากการดำเนินงานเชิงพาณิชย์

เป็นหน่วยงานที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ที่มีลักษณะเป็นการเป็นการให้บริการสาธารณะ และงานสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ หรืองานของรัฐบาลบางด้าน ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

หรือการดำเนินกิจกรรมมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่รัฐยังจำเป็นต้องควบคุมและดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว หรือเป็นงานที่ภาคเอกชนยังไม่พร้อมที่จะลงทุนดำเนินการ หรือเป็นกิจการที่รัฐจำเป็นต้องแทรกแซงตลาด เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม หรือให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อให้งานบริการนั้นได้มาตรฐานทั้งในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ค่าใช้จ่าย และอื่นๆ

ขณะที่ ล่าสุด วันนี้ (25 พ.ค.66) นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เผยว่า ปี 2566 รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบลงทุนจนถึงเดือน เม.ย.66 จำนวน 94,834 ล้านบาท หรือคิดเป็น 109% ของแผนการเบิกจ่าย

ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือนต.ค.65 ถึง เม.ย.66) 34 แห่ง จำนวน 62,997 ล้านบาท หรือคิดเป็น 107% ของแผนการเบิกจ่ายและรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน (เดือน ม.ค.-เม.ย.66) 9 แห่ง จำนวน 31,838 ล้านบาท หรือคิดเป็น 113% ของแผนการเบิกจ่าย

ทั้งนี้ ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2566 (ณ สิ้นเดือน เม.ย.66) รัฐวิสาหกิจ แผนการเบิกจ่าย ผลการเบิกจ่าย ผลการเบิกจ่าย/แผนการเบิกจ่าย ปีงบประมาณ (ต.ค.65 ถึง เม.ย.66) จำนวน 34 แห่ง (7 เดือน) 59,118 62,997 คิดเป็น 107%

ปีปฏิทิน (เดือน ม.ค.ถึง เม.ย.66) จำนวน 9 แห่ง (4 เดือน) 28,284 31,838 คิดเป็น 113% รวม 43 แห่ง 87,402 94,834 คิดเป็น 109%

ขณะที่ นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญยังสามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวน รอบนอกตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 9 ของการประปานครหลวง (กปน.) และโครงการก่อสร้างรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของ รฟท.

ขณะที่ รัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าแผน 3 อันดับ ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท., องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

ในโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560)(ทอท.), แผนงานสัญญาเช่า ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)(เอ็นที) และโครงการจัดการดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ทดแทน GE จำนวน 50 คัน (รฟท.)

ด้าน นางปานทิพย์ กล่าวว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุน ณ สิ้นเดือน เม.ย.66 เป็นผลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 7 เดือน ซึ่งคิดเป็น 51% ของกรอบงบลงทุนทั้งปี และเป็นผลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 4 เดือน คิดเป็น 21% ของกรอบงบลงทุนทั้งปี ทั้งนี้ สคร. จะกำกับติดตามให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่องต่อไป