‘ประกันสังคม’ ใกล้เจ๊งจริงมั้ย ลูกจ้างเสี่ยงชวด เงินหลังเกษียณรึเปล่า?

‘อีจัน’ รวมคำตอบจากทุกคำถาม ‘กองทุนประกันสังคม’ ใกล้เจ๊งจริงมั้ย หลังเกษียณลูกจ้างเสี่ยงชวดเงินทดแทนรึเปล่า รัฐบาลควรเสริมสภาพคล่อง เติมเงินลงกองทุนอย่างไร ดูเลย

ทำลูกจ้าง หรือมนุษย์เงินเดือน ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ต้องตกอกตกใจ เพราะเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค.66 ที่ผ่านมา สำนักงานเศษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เผยว่า จากการประเมินความเสี่ยงทางการคลังของกองทุนประกันสังคมสิ้นสุด เมื่อปี 65 พบว่า มีเงินรวม 2.361 ล้านล้านบาท ลดลง 17,000-18,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่มี 2.379 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 60 และหมายความว่า กองทุนประกันสังคมของไทยมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ประกันสังคม โดย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะออกมายืนยันว่า กองทุนประกันสังคมในปัจจุบันยังมีเสถียรภาพ ก็ยังไม่วายเจอ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ซึ่งนำโดย ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ รวมถึง น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.พรรคเพื่อไทย ร่วมอภิปรายในหลายประเด็นถึงสถานภาพของกองทุนดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิด 3 เรื่อง ที่ประกันสังคม ถูกร้องเรียนมากที่สุด รอบครึ่งแรกปี 66

และเพื่อให้รู้รายละเอียดของเงินกองทุนประกันสังคมแบบชัดๆ ‘อีจัน’ ได้เข้าไปดาวน์โหลดข้อมูลสำคัญ คือ รายงานประจำปีใน เว็บสำนักงานประกันสังคม แต่ถึงตอนนี้ผ่านไปครึ่งปี 2566 แล้ว ก็ยังไม่พบรายงานประจำปี 2565 ปรากฎอยู่บนหน้าเว็บไซต์ ดังนั้น เราจึงจะยึดตามข้อมูลของปี 2564 ซึ่งไม่แตกต่างกันมากนัก

และขออธิบายถึงที่มาที่ไปเรื่องนี้ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า มนุษย์เงินเดือนต้องจ่ายเงินเข้าประกันสังคมทุกเดือน เพื่อแลกมากับสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิได้รับเงินเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออก สิทธิได้รับเงินหลังเกษียณ

ซึ่งในอดีตประกันสังคม ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินมากนัก เพราะเงินเข้ากับเงินออกค่อนข้างได้สัดส่วนกัน แต่ช่วงหลังเริ่มมีปัญหา เพราะเงินเข้าน้อยลงเรื่อยๆ แต่ขณะที่เงินออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เงินเข้าน้อยลงมี 3 ข้อ คือ 1.ประชากรกลุ่มวัยทำงานน้อยลง ทำให้มีคนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเข้าประกันสังคมน้อยลง 2.มีคนทำงานนอกระบบมากขึ้น คือ เป็นฟรีแลนซ์ หรือเปิดธุรกิจส่วนตัว หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเล็กๆ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน

และ 3.การลงทุนแบบเดิมของประกันสังคม ทำได้ยากขึ้นประกันสังคมไม่ได้นำเงินพวกเราไปเก็บไว้เฉยๆ แต่นำไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยขึ้น ซึ่งการลงทุนโปรดของประกันสังคม คือ ตราสารหนี้ ที่ในอดีตมีผลประกอบการดี เงินงอกเงยโดยที่ไม่ต้องพยายามอะไรนัก แต่ตอนนี้ตราสารหนี้ไม่ค่อยดี ทำให้เงินงอกเงยลดลงไปมาก

ส่วนฝั่งเงินออก ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งประชากรกลุ่มนี้มีสิทธิได้รับเงินหลังเกษียณ ทำให้สถานการณ์ คือ มีคนวัยเกษียณที่รับเงินจากประกันสังคมเพิ่มขึ้น แต่ขณะที่คนทำงานเพื่อจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมน้อยลง ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เจ๊งแน่

ที่สำคัญคือ ช่วงการระบาดของโควิด-19 ประกันสังคมหมดเงินไปเยอะมาก เพราะลูกจ้างโดนไล่ออกจากงาน ทำให้ต้องจ่ายค่าชดเชย และยังหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งน่าจะเป็นกันแทบครบทุกคนแล้ว

และโดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) นี้เอง กลายเป็นปัญหาของหลายๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ก็กำลังปวดหัวกับการหาเงินมาช่วยประกันสังคมของเขา ที่น่าจะอยู่ได้อีกราว 20 ปี เช่นเดียวกับ ‘ฝรั่งเศส’ ที่มีประเด็นยืดอายุคนเกษียณออกไป จนมีการประท้วงเป็นข่าวดัง

ดังนั้น ประเทศไทย นำมาซึ่งการแก้ปัญหาเบื้องต้น 2 วิธี ที่ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ได้แก่ 1.เก็บเงินเข้ากองทุนมากขึ้น จากเดิมที่ต้องจ่ายอย่างมากเดือนละ 750 บาท ก็มีโอกาสได้เห็นการเก็บเงินเพิ่มขึ้นเป็น 875 หรือ 1,000 บาท ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาที่ว่า แล้วลูกจ้างอย่างเราๆ จะจ่ายกันไหวหรือไม่ แต่หากคนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่ม ก็อาจจะเก็บเงินส่วนนี้เพิ่มขึ้นได้

2.การนำเงินไปลงทุน เพื่อทำให้แต่ละปีมีเงินงอกเงยมากขึ้น จากพอร์ตการลงทุนของประกันสังคมในปัจจุบันที่ Play save อย่างมาก เพราะเงินลงทุนราว 75% อยู่ในทรัพย์สินแบบเสี่ยงต่ำ ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ต่ำตามไปด้วย อย่างในปีที่ผ่านมามีกำไรจากการลงทุน 79,000 ล้านบาท จากต้นทุน 2.3 ล้านล้านบาท พบว่า ลงทุนทั้งปีได้กำไรเพียง 80,000 ล้านบาท หรือราว 3.5%

จึงต้องเพิ่มการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีความเสี่ยงขึ้น เช่น เพิ่มสัดส่วนในหุ้นให้มากขึ้น หรือนำเงินไปลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา อาเซียน อินเดีย แต่ก็จะมีปัญหาตามมาอีกว่า ถ้านำเงินไปลงทุนที่เสี่ยงขึ้น ก็มีโอกาสขาดทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่น และสถานะของเงินลงทุนอีก แต่ถ้าเราไม่เสี่ยงเลย ก็จะหวังผลตอบแทนที่มากขึ้นไม่ได้ หรือไม่มีเงินมาพอกับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นปัญหาที่คาราคาซัง แก้ไม่ตก ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้

หรืออีกหนึ่งหนทางสวยๆ คือ การเปลี่ยนประเทศของเราให้กลายเป็นประเทศรายได้สูง เติบโตก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลก็จะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่ามหาศาลมาอุดหนุนประชาชน ช่วยเหลือเงินส่วนนี้ จนสุดท้าย เรากลายเป็นประเทศสวัสดิการดีๆ ที่ประกันสังคมไม่มีวันเจ๊ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ดูเลย! เปลี่ยนสิทธิรักษา จากประกันสังคม เป็นบัตรทอง ต้องทำอย่างไร?เตือน ม.39 มีเงินติดบัญชี 432 บ. เผื่อหัก ก่อนวันที่ 15 ของทุกเดือน ประกันสังคม โอนเงินบำนาญชราภาพ ‘เดือนตรงเดือน’ เริ่มเดือน มิ.ย.66