เงินเดือนใหม่ข้าราชการปี 2567 วุฒิการศึกษาไหนได้เงินเดือนเท่าไหร่?

ครม.เคาะปรับเงินเดือนข้าราชการ มีผล 1 พ.ค.67 เงินเดือนใหม่ข้าราชการปี 2567 วุฒิการศึกษาไหนได้เงินเดือนเท่าไหร่?

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ย.66 เห็นชอบ การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ตามที่ สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ จะทยอยปรับตามคุณวุฒิ ภายใน 2 ปี ซึ่งปีที่ 1 คือ 1 พ.ค.67 และปีที่ 2 คือ 1 พ.ค.68

ส่งผลให้เงินเดือนเปลี่ยนแปลงไปตามวุฒิการศึกษา ดังนี้

วุฒิการศึกษาระดับ ปวช.

ปัจจุบัน : 9,400 – 10,340

ปีที่ 1 : 10,340 – 11,380

ปีที่ 2 : 11,380 – 12,520

วุฒิการศึกษาระดับ ปวส.

ปัจจุบัน : 11,500 – 12,650

ปีที่ 1 : 12,650 – 13,920

ปีที่ 2 : 13,920 – 15,320

วุฒิการศึกษาระดับ ป.ตรี

ปัจจุบัน : 15,000 – 16,500

ปีที่ 1 : 16,500 – 18,150

ปีที่ 2 : 18,150 – 19,970

.

วุฒิการศึกษาระดับ ป.โท

ปัจจุบัน : 17,500 – 19,250

ปีที่ 1 : 19,250 – 21,180

ปีที่ 2 : 21,180 – 23,300

วุฒิการศึกษาระดับ ป.เอก

ปัจจุบัน : 21,000 – 23,100

ปีที่ 1 : 23,100 – 25,410

ปีที่ 2 : 25,410 – 27,960

ส่วนการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ

ปรับจำนวน 2 ครั้ง พร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี

กลุ่มเป้าหมาย

ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ข้าราชการในหน่วยธุรการของศาล ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการในสำนักงานขององค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และข้าราชการธุรการอัยการ

มีผลใช้บังคับ

ปีที่ 1 : ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567

ปีที่ 2 : ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568

การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว

เพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิมเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น ไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท

ปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว

จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท

ปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ

จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท

แนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ

– บริหารจัดการอัตรากำลังเพื่อเร่งรัดการเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยยุบเลิกตำแหน่งว่างจากการเกษียณในสายงานสนับสนุน (เฉพาะตำแหน่งที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้) เป็นระยะเวลา 3 ปีต่อเนื่อง ควบคู่กับการดำเนินการตาม Digital Transformation Plan

– บริหารจัดการอัตรากำลังข้าราชการที่ไปช่วยราชการ โดย ครม. อาจมีมติเป็นหลักการให้ทบทวน หรือ ยกเลิก การช่วยราชการทั้งหมด และต่อไปหากมีความจำเป็นต้องขอยืมตัวข้าราชการให้เสนอขออนุมัติต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง เพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะราย

– เชื่อมโยงฐานข้อมูลข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเป็นมาตรการเชิงบังคับให้ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนกับระบบ DPIS Center ของสำนักงาน ก.พ. เพื่อประโยชน์ในการวางแผน ติดตาม ตลอดจนเกลี่ยอัตรากำลังไปยังภารกิจที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน

– พัฒนาระบบค่าตอบแทนภาครัฐในระยะต่อไป ให้เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวการณ์ และสะท้อนถึงผลการปฏิบัติงานที่แท้จริง เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลังของประเทศและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ มอบ สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับ คณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่าง ๆ ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง รับหลักการไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนของท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยคู่ฟ้า