ซีพีออลล์ กวาดรายได้ ไตรมาสแรกปี 66 รวม 2.22 แสนล้านบาท

ไตรมาสแรกปี 66 ‘ซีพีออลล์’ มีรายได้รวม 2.22 แสนล้านบาท กำไร 4.1 พันล้านบาท เตรียมเปิดสาขาแรกที่ สปป.ลาว ภายในปีนี้

การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้น หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งสอดคล้องกับผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 ของหลายบริษัทที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน

สำหรับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2566 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พ.ค.66 ระบุว่า บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจำนวน 4,123 ล้านบาท โดยในภาพรวมเป็น ดังนี้

  • รายได้รวม 

ไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 222,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 11.2%

ซึ่งมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้ จากการขายและบริการของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ รวมถึงธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ธุรกิจแม็คโครและโลตัสนั้น มีการเติบโตของรายได้จากการขายและบริการดีขึ้นเช่นกัน

ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยว นอกจากนี้กลยทธุ์  O2O ของแต่ละหน่วยธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

  • กำไรขั้นต้น 

ขณะเดียวกัน บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการเท่ากับ 46,913 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขาย และบริการของทุกกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้น 

โดยเฉพาะธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และธุรกิจแม็คโครที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นในงบการเงินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นี้เป็น 21.7% จาก 21.5% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ บริษัทมีต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารเท่ากับ 43,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนค่าใช้จ่ายกลุ่มต้นทุนในการจัดจำหน่ายมีจำนวน 36,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% 

ขณะที่ กลุ่มค่าใช้จ่ายในการบริหารมีจำนวน 6,880 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเภทค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลักๆ ประกอบด้วย ค่าสาธารณูปโภคสืบเนื่องมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพนักงาน และค่าโฆษณาและส่งเสริมการขาย ซึ่งเพิ่มขึ้นตามรายได้ และการขยายสาขา 

อย่างไรก็ตาม แต่ละกลุ่มธุรกิจยังคงมีการควบคุ้มค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องแม้ในไตรมาสนี้ ทุกธุรกิจต้องเผชิญกับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายหลายประเภทที่ปรับเพิ่มขึ้น

  • กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ และกำไรสุทธิ

บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จำนวน 10,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 4,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการดำเนินงานของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และธุรกิจแม็คโคร นอกจากนี้ ได้มีการบันทึกส่วนแบ่งกำไรของกลุ่มแม็คโครตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 193 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการกู้ยืม และการตัดจำหน่ายค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ จากการชำระคืนเงินกู้ยืมก่อนกำหนดของกลุ่มธุรกิจค้าส่งค่าปลีก สำหรับกำไรต่อหุ้นตามงบการเงินรวมในไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวนเท่ากับ 0.45 บาท

  • สัดส่วนรายได้รวมและกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนหักรายการระหว่างกันตามธุรกิจหลัก

รายได้รวมก่อนหักรายการระหว่างกัน แบ่งสัดส่วนตามธุรกิจหลัก ได้ดังนี้  (กลุ่ม 1) รายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ มีสัดส่วน 49% และ (กลุ่ม 2) รายได้จากธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค มีสัดส่วน 51% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับสัดส่วนในปี 2565

กำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนหักรายการระหว่างกัน แบ่งสัดส่วนตามธุรกิจหลัก ได้ดังนี้  (กลุ่ม 1) กำไรจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ มีสัดส่วน 61% ในขณะที่(กลุ่ม 2) กำไรจากธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค มีสัดส่วน 39% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับสัดส่วนในปี 2565

  • ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ

ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปิดร้านสาขาใหม่ รวมทั้งสิ้น 209 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทมีจำนวนรานสาขาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 14,047 สาขา แบ่งเป็น

1.ร้านสาขาบริษัท 7,019 สาขา หรือประมาณ 50% ร้านเปิดใหม่สุทธิ 180 สาขา ในไตรมาสนี้

2.ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 7,028 สาขา หรือประมาณ 50% ร้านเปิดใหม่สุทธิ 29 สาขา ในไตรมาสนี้

ร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นรานที่ตั้งเป็นเอกเทศ ซึ่งประมาณ 86% ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเปืนร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2566 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 94,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสนี้มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน เท่ากับ 78,735 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมเพิ่มขึ้นเท่ากับ 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 84 บาท ในขณะที่ จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 941 คน

ทั้งนี้ ลูกค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากการบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากสถานการณ์ดังกล่าวธุรกิจร้านสะดวกซื้อได้ปรับแผนกลยุทธ์เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 

โดยคำนึงถึงการรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ โดยนำเสนอสินค้าใหม่ๆ พร้อมกับโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ประกอบกับรายได้จากการขายสินค้าส่วนเพิ่มผ่านกลยุทธ์ O2O อาทิ 7-Eleven Delivery, All Online และ 24Shopping ซึ่งยังคงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในภาวะปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยมีสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้จากการขายสินค้ารวม

ขณะเดียวกัน ไตรมาส 1 ปี 2566 สัดส่วนของรายได้จากการขาย 74.5% มาจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ 25.5% มาจากสินค้าอุปโภค ซึ่งสัดส่วนรายได้ในกลุ่มสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค รวมทั้งมีการออกสินค้าใหม่ควบคู่กับโปรโมชั่นของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสามารถดึงดูดลูกค้าได้เพิ่มขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นร้านอิ่มสะดวกเต็มรูปแบบส าหรับลูกค้าทุกกลุ่ม

ส่วนธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีกำไรขั้นต้นจำนวน 26,428 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4,259 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.2% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับ 27.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่อัตราส่วน 27.1% สาเหตุมาจากการปรับกลยุทธ์ด้านสินค้า 

โดยเน้นเรื่องการปรับตัวให้ทันตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ให้ความสำคัญต่อการบริหารอัตรากำไรขั้นต้นของสินค้า เพื่อให้สามารถดึงดูดลูกค้า และสามารถสร้างยอดขายและกำไรส่วนเพิ่มต่อธุรกิจภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับราคาสินค้าตามอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังมีรายได้อื่นอีกจำนวน 5,718 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 515 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้จากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของสาขา อาทิ การให้เช่าพื้นที่ บริการ และอื่นๆ ในขณะที่มีการบันทึกเงินปันผลรับจากบริษัทย่อยจำนวน 620 ล้านบาท อยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อนหน้า

ในส่วนของต้นทุนในการจัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร ในไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวน 27,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,670 ล้านบาท หรือ 15.5% สาเหตุหลักมาจากเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน รวมถึงค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นจากการประกาศปรับขึ้นค่าไฟต่อหน่วยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ถึงแม้ว่าจะมีการปรับขึ้นของค่าใช้จ่ายบางประเภท บริษัทยังคงขยายสาขาร้าน 7-Eleven ตามแผน และมีการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการสำหรับลูกค้า 

ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังคงรายงานกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,758 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน