งามแต๊ๆ ผ้าทอลายปักอัตลักษณ์ชนเผ่าเมี่ยน จ.พะเยา

สนใจผ้าทอลายปักอัตลักษณ์ชนเผ่าเมี่ยน ไม่ต้องเดินทางไปพะเยา สั่งผ่านออนไลน์ได้เลย

ใครที่ชอบผ้าทอลายปักที่ประณีต หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากผ้าทอ เช่น เนคไท หมวก พวงกุญแจ ห้ามพลาด!

เพราะผ้าทอลายปักสวยๆ เหล่านี้ สามารถสั่งเพจเฟซบุ๊กได้แล้ว

หลังจากที่ทีมเน็ตทำกิน ได้ลงพื้นที่อบรมเรื่องการทำตลาออนไลน์ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนำสินค้าที่ผลิตเข้าสู่ตลาดออนไลน์

พี่เหมย – สยุมพร ปรานวิโรจน์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมการตลาดออนไลน์กับทีมเน็ตทำกิน ชนชาติพันธุ์เมี่ยน ซึ่งอยู่ที่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา บอกว่า สินค้าที่ทำอยู่ตอนนี้เป็นหมวก และเนคไท ลายทอผ้าปัก ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนเมี่ยน เป็นลายโบราณและลายประยุกต์สมัยใหม่

พี่เหมย เล่าว่า ปัจจุบันเปิดบ้านเป็นที่พักทำโฮมสเตย์อยู่ที่หมู่บ้านปางปูเลาะ และรวมกลุ่มกันทำผ้าทอลายปัก ซึ่งเป็นลายผ้าโบราณ มีการทำร่วมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้สมัยก่อนจะนำส่งจำหน่ายที่ศูนย์ศิลปะชีพ เนื่องจากการปักผ้าผืนใหญ่ใช้เวลานาน 5-6 เดือน และมีราคาค่อนข้างสูง คือผืนละ 3-4 พันบาท

“หลังจากเปิดโฮมสเตย์และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในหมู่บ้าน ก็มีแนวคิดที่จะทำผ้าปักผืนเล็ก หรือทำเป็นหมวก กระเป๋า เนคไท พวงกุญแจ เพื่อให้ใช้เวลาในการผลิตไม่นาน ราคาไม่สูง และสามารถจำหน่ายได้ง่ายขึ้น เพื่อวางขายในชุมชนให้นักท่องเที่ยว”

พี่เหมย บอกอีกว่า หลังได้เข้าร่วมอบรมการทำตลาดออนไลน์กับเน็ตทำกิน ได้รวมกลุ่มกันเพื่อศึกษาว่าจะนำช่องทางออนไลน์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของชุมชนได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากผู้สูงอายุยังไม่ค่อยใช้กัน

“ตอนนี้เรารู้เรื่องการเปิดเพจแล้ว การถ่ายภาพ การทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจ โดยสิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติมเป็นเรื่องช่องทางการส่งเสริมการขาย เพื่อให้เข้าถึงทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ เพราะเรายังไม่เก่งในเรื่องนี้”

สำหรับผลิตภัณฑ์ผ้าทอลายปัก เป็นการรวมกลุ่มกันของผู้สูงอายุและเด็กในหมู่บ้านเพื่อสร้างรายได้ โดยลักษณะการปักมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น หากสนใจเสื้อผ้าและสินค้าผ้าทอลายปักสามารถอุดหนุนได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : ย่านเปี้ยง ผ้าปักเมี่ยน ปางปูเราะ พะเยา

https://www.facebook.com/profile.php?id=100094821337284&mibextid=ZbWKwL

สำหรับการอบรมการตลาดออนไลน์ เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ได้แก่ บริษัททรู คอร์ปอเรเชั่น จำกัด(มหาชน), องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และศูนย์นวัตกรรมและการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล (DITC) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยกิจกรรมสร้างรายได้โดยใช้ทักษะดิจิทัล ซึ่งโครงการนี้จะดำเนินการใน 24 กลุ่มชุมชน ใน 7 จังหวัดตั้งแต่พื้นที่เหนือสุดของประเทศไทยไปจนถึงภาคกลาง และทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ชาติพันธุ์ ม้ง กะเหรี่ยง ลาหู่ เมี่ยน มลาบรี ดาราอั้ง ไทใหญ่