นโยบายแจกเงิน โดนอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ เมนต์แรง สร้างหนี้ใช่เหตุ

อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ เมนต์แรง นโยบายแจกเงิน สร้างหนี้ใช่เหตุ ทำประชาชนเสียนิสัย ขาดวินัยการเงิน คอยแต่จะแบมือรับ

ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กระเป๋าเงินดิจิทัล เติมเงินให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท เพื่อซื้อสินค้าในรัศมี 4 กม.จากที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ภายใน 6 เดือน

เศรษฐา แทคทีมเพื่อไทย แจงนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท

แม้เมื่อวันที่ 10 เม.ย.66 ที่ผ่านมา ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และกรรมการ เลขานุการ โฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาชี้แจงถึงนโยบายดังกล่าว เพิ่มเติมใน 10 ประเด็น ได้แก่

1.กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด สามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อ

2.เหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่มีการสร้างมูลค่า ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล

3.กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นต่อความมั่นคงของระบบการเงิน ไม่เกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะไม่ใช่การสร้างสกุลเงินใหม่

4.กระเป๋าเงินดิจิทัล เงิน 10,000 บาท ลงถึงมือประชาชนทุกคน (16 ปี ขึ้นไป) ทุกบาททุกสตางค์ ใช้จ่ายจริง ซื้อของได้จริง ไม่มีการสูญหายของงบประมาณ ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรมตลอดเส้นทาง

5.กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่ใช่กรณีเดียวกับ Bitcoin Luna USDT ตามมีผู้กล่าวอ้าง เหล่านั้นออกโดยเอกชนและมุ่งหมายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไป ออกโดยรัฐบาล ไม่ใช่สกุลเงินคู่ขนานกับเงินบาท

6.กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ไม่เกี่ยวกับการซื้อบริษัท ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ไม่เกี่ยวกับการลงทุน เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ทั้งหมดใช้งบประมาณจากภาครัฐและโอนตรงถือมือประชาชนทุกคน (16 ปีขึ้นไป) ง่ายๆ และตรงไปตรงมา

7.กระเป๋าเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาด สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย ตรงข้ามกับวิธีเดิมที่ต้องซื้อในร้านใหญ่หรือกลุ่มทุน

8.กระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย เป็นระบบที่มีความโปร่งสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม

9.กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ปัจจุบันระดับกำลังซื้อของประเทศตกต่ำ เศรษฐกิจตกต่ำกว่าศักยภาพมาก สภาวะดังกล่าวไม่นำสู่เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ได้ รวมทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัล สามารถจัดสรรเงินจากงบประมาณ ไม่มีการขึ้นอัตราภาษีใดๆ

10.พรรคเพื่อไทยสนับสนุน Central Bank Digital Currency (CBDC) และเดินหน้าพัฒนาร่วมกันธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับทุกคน เพื่อยกระดับระบบการเงินของประเทศเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล

แต่ในเวลาถัดมา เฟซบุ๊ก Chamnong Watanagase ของนายจำนง วัฒนเกส สามีของนางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้เผยแพร่ข้อความ ระบุว่า 

“ภาระการคลังของการแจกเงิน” ว่าประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไปมีประมาณ 85% ของประชากร 67,000,000 คน จึงเทียบเท่ากับประมาณ 55,000,000 คน แจกให้คนละ 10,000 บาท เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมด 550,000 ล้านบาท

ถามว่าจะเอาค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาจากไหน

ถ้าเงิน 550,000 ล้านบาทที่ใช้จ่ายออกไปมีการเก็บภาษี VAT 7% เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะได้ภาษี 38,500 ล้านบาท แต่จริงๆเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะร้านขายของในละแวกบ้าน นอกอาจจะเป็นร้านเล็กๆ ยังไม่อยู่ในระบบภาษี แต่เอาเถอะยกผลประโยชน์ให้ว่าเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเขาอาจจะโต้แย้งได้ว่าเงิน 550,000 ล้านบาทสามารถหมุนได้หลายรอบ ก็จะเก็บภาษีได้หลายรอบ และบริษัทที่ผลิตสินค้าขายได้มากขึ้นก็น่าจะเก็บภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้น

ดังนั้นยังต้องหาเงินมาโปะส่วนที่ขาดอีก 511,500 ล้านบาท ปัดตัวเลขกลมๆ เป็น 500,000 ล้านบาท เลยก็ได้ ถ้าไม่ขึ้นภาษีก็ต้องเบียดมาจากการใช้จ่ายรายการอื่นๆ ซึ่งไม่น่าจะเบียดมาได้มากนัก เพราะตัวเลข 500,000 ล้านบาทนี้เทียบเท่ากับ 17 ถึง 18% ของงบประมาณคาดการณ์ของปี 2023 จึงเป็นสัดส่วนไม่น้อย เมื่อหาเงินหรือลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นไม่ได้ ก็ต้องกู้มาโปะส่วนที่ขาดดุลมากขึ้นนี้

อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีในปี 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 61.36% ถ้าต้องกู้มากขึ้นอีก 500,000 ล้านบาทสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 2.8% รวมเป็น 64.16%

เราเคยตั้งเป้าว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะไม่ให้เกิน 60% แต่ช่วงที่ผ่านมาเราต้องประคับประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด จึงยอมให้สัดส่วนนี้สูงเกิน 60% และมีเป้าหมายจะดึงลงมาให้อยู่ในระดับ 60% โดยเร็ว

นโยบายแจกเงินนี้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะโตประมาณ 3 ถึง 4% โดยมีตัวช่วยคือการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาในช่วงโควิดรัฐบาลได้ใช้เงินไปในการพยุงเศรษฐกิจมามากพอแล้ว ปีหน้าจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นต่อเนื่อง และการจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยการใช้จ่ายเป็นวิธีที่ไม่รับผิดชอบ (ยกเว้นในกรณีจำเป็นอย่างเช่นในช่วงโควิดที่หัวรถจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ไม่ทำงาน) เพราะใช้แล้วก็หมดไป ไม่มีผลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว

กรณีของสิงคโปร์มีการให้เงินกับประชากรคนละ 600 เหรียญตั้งแต่ช่วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากมาย โดยกำหนดให้ไปเรียน หรือหาความรู้เพิ่มเติมให้ทันกับวิทยาการใหม่ใหม่เพื่อจะได้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ นโยบายแบบนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการแจกเงินให้ไปใช้จ่าย ซึ่งทุกวันนี้ก็ใช้กันเพลินจนหนี้ครัวเรือนสูงมากเป็นปัญหาต่อเนื่องอยู่แล้ว

เห็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบแบบนี้แล้วเศร้าใจ นอกจากการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงิน คอยแต่จะแบมือรับ แทนที่จะติดอาวุธให้ประชาชนมีทักษะ มีความสามารถในการยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน มากกว่าเงินช่วยเหลือจากนักการเมือง

ต้องจับตาว่า พรรคเพื่อไทย จะแก้เกม พลิกวิกฤตนี้ ให้เป็นโอกาสได้อย่างไร

เศรษฐา พรรคเพื่อไทย ประกาศเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้คนไทย
คลิปอีจันแนะนำ
เปิดนโยบายเศรฐกิจ พรรคเพื่อไทย กับ เศรษฐา ทวีสิน