ซูเปอร์โพล เผย ประชาชน 85.2% เบื่อการเมืองหลังเลือกตั้ง

การเมืองหลังเลือกตั้ง 66 ไม่ฟิน ประชาชน 85.2% เบื่อหน่าย 70.5% ผิดหวังจุดยืน ‘ก้าวไกล’ 44.9%
แล้วแต่ ‘เพื่อไทย’ ถอนตัวร่วมรัฐบาล

ผ่านพ้นการเลือกตั้ง 2566 มาเพียง 2 สัปดาห์ แต่มีหลายเรื่องราวเกิดขึ้น ประหนึ่งผ่านมาแล้วร่วมปี โดยผลสำรวจการศึกษาของ ‘สำนักวิจัยซูเปอร์โพล’ (SUPER POLL) ล่าสุด เรื่องก้าวไกลกับราษฎร จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 1,035 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-28 พ.ค.66

พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 85.2% เบื่อหน่ายการเมือง จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เพราะมีแต่แย่งชิงตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ ละเลยความเดือดร้อนของราษฎร การแพร่ระบาดของโควิด และปัญหาปากท้อง เป็นต้น 

ขณะที่ 14.8% ไม่เบื่อ เพราะน่าสนใจติดตาม ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคอะไรจะได้เป็นรัฐบาลบ้าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือ 70.5% รู้สึกผิดหวังต่อจุดยืนของพรรคก้าวไกล ที่เคยหาเสียงไว้ เช่น พอได้เป็นแล้วเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ค่าแรง 450 ไม่ชัดเจน กฎหมาย 112 การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงต่างๆ และอื่นๆ เป็นต้น ในขณะที่ 29.5% ไม่ผิดหวัง เพราะเพิ่งรวมตัวกันต้องให้เวลาก่อน ค่อยเป็นค่อยไป หนักแน่นในก้าวไกล เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความเห็นต่อการถอนตัวของพรรคเพื่อไทย จากความขัดแย้งต่างๆ ในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังพยายามจัดตั้งโดยพรรคก้าวไกล พบว่า จำนวนมากหรือ 44.9% ระบุ แล้วแต่เลย ถอนก็ได้ ไม่ถอนก็ได้ ในขณะที่ 32.8% ระบุควรอยู่ต่อ และ 22.3% ระบุควรถอนตัว ตามลำดับ

นอกจากนี้ รายงานซูเปอร์โพล ยังระบุว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบด้วยว่า ความรู้สึกของราษฎรเริ่มเบื่อหน่ายต่อการเมืองจัดตั้งรัฐบาลที่มองข้ามปัญหาเดือดร้อนของประชาชนผู้เป็นราษฎรประสบปัญหามากมายในเวลานี้ทั้งปัญหาการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด ปัญหาปากท้อง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งของคนในชาติที่เริ่มก่อตัวปะทุขึ้นอีก 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องการให้เวลาพรรคก้าวไกลอีกระยะหนึ่งในความพยายามจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ แต่หากมีความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลประชาชนจำนวนมากระบุแล้วแต่เลยว่าพรรคเพื่อไทยจะถอนตัวหรือไม่ถอนตัวก็ได้ และยังให้ความเห็นว่าอย่าลืมความคาดหวังของประชาชน บ้างก็ว่า อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไป บ้างก็สรุปความเห็นให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหาเดือดร้อนเพื่อความสุขของประชาชน