กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ ธ.ก.ส. ส่งเสริม การใช้น้ำบาดาล เพื่อการเกษตร

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ ธ.ก.ส. ส่งเสริม การใช้น้ำบาดาล เพื่อการเกษตร 1,414 แห่ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ประชุมขับเคลื่อนแนวทางความร่วมมือตาม MOU เรื่อง “การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้น้ำบาดาลเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” โดยวางเป้าหมายต่อยอดช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 1,414 แห่ง ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเป็นต้นแบบ มีองค์ความรู้ และสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน

โดยมี รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นประธาน พร้อมด้วยนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทยที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องน้ำใต้ดิน และมีพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ที่ใช้กำกับควบคุมการประกอบกิจการน้ำบาดาลให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งในอดีตกรมทรัพยากร น้ำบาดาลได้มีการจัดหาน้ำบาดาล แต่ยังขาดการต่อยอดการปลูกผลผลิตเพื่อความยั่งยืน เช่น การนำน้ำบาดาล ไปใช้เพื่อการเกษตร ประชาชนอาจจะไม่มีแหล่งเงินทุนที่จะนำน้ำบาดาลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดังนั้นจึงเชิญ ธ.ก.ส. มาช่วยส่งเสริมสนับสนุนเงินทุนและด้านวิชาการให้เกษตรกรสามารถ นำน้ำบาดาลไปใช้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2563 ธ.ก.ส. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีเป้าหมายในการต่อยอดโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรตาม MOU ในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,414 แห่ง ดำเนินการไปแล้ว 520 แห่ง คงเหลือที่จะดำเนินการต่อในปี 2565 อีกจำนวน 894 แห่ง

ด้านนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการใหญ่ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการบริหาร จัดการน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้เกษตรกรดำรงชีพอยู่ได้ และสร้างผลผลิตทางการเกษตร ที่ผ่านมาการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ก็สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคบ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม ธ.ก.ส. ก็ยังมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือ ตาม MOU ต่อเนื่องต่อไป โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบเพิ่มเติม คือ คน กระบวนการ และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อทำให้ประชาชนรู้ รักษ์ และใช้ประโยชน์ รวมถึงบริหารจัดการน้ำบาดาลได้อย่างยั่งยืน

คลิปอีจันแนะนำ
ไกลแค่ไหนก็ไปส่งถึงที่ #อีจันส่งต่อ 1,000 เตียงสนามสู้โควิด