นายกฯ ยินดี เยอรมนี ชู “ไทย ไรซ์ นามา” ต้นแบบ ทำนาลดโลกร้อน ที่ยั่งยืน

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดี หลัง เยอรมนี ชู “ไทย ไรซ์ นามา” เป็น ต้นแบบ การ ทำนาลดโลกร้อน ที่ยั่งยืน ผลักดันการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มรายได้เกษตรกร ลดการปล่อยก๊าซเรือน

วันนี้ (17 พฤษภาคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความยินดีที่ไทยและเยอรมนี ร่วมกันผลักดันโครงการการทำนาลดโลกร้อน พร้อมชู “ไทย ไรซ์ นามา” ต่อยอดความร่วมมือเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เพิ่มผลผลิตและรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันและวางแนวทางเกษตรกรชาวนายุคใหม่ ให้สามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ หวังบรรลุเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย จากเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต ตามแนวทางลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอันเป็นวาระสำคัญของประชาคมโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ ไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทย ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก NAMA Facility เพื่อแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจากรูปแบบการทำนาดั้งเดิมที่สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของภาคเกษตรกรรมทั้งหมดในไทยและมากเป็นอันดับ 4 ของโลก อีกทั้งการขังน้ำในนาข้าวทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนในการหาแนวป้องกันและผลักดันการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของไทยให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ผ่านนโยบายการสนับสนุนทางการเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนรูปแบบการทำนา อีกทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทำนาสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยี 4 ป. กล่าวคือ 1. ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling -LLL) คือการปรับพื้นที่นาให้เรียบสม่ำเสมอ ลดต้นทุน เพิ่มการผลิต ได้กำไรมากขึ้น 2. เปียกสลับแห้ง คือการปลูกเพื่อทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ต้านทานโรคและแมลงได้ 3. ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน คือ การนำดินเข้าห้องทดลองเพื่อหาค่าความเหมาะสมในการใช้ปุ๋ย และ 4. แปรสภาพฟางและตอซังข้าว คือ ไม่เผาแต่เน้นแปรรูป ผ่านกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน และกลุ่มสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.8 ล้านไร่ เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบความสำเร็จด้านการทำนายุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งต่อแนวคิดสู่เกษตรกรรายย่อยให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ประเทศไทยด้วยมาตรการ “3 เพิ่ม 3 ลด” คือ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน

การผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน โดยผลจากการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2564 พบว่า มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 25,000 คน สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวได้กว่า 305,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นายธนกรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรไทยด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งพร้อมร่วมมือกับคู่ภาคีเพื่อต่อยอดความรู้ ความเชี่ยวชาญ จึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานทุกฝ่ายดำเนินนโยบายด้านการส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ ประสบการณ์ อีกทั้งแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการประสบความสำเร็จจากโครงการ ไทย ไรซ์ นามา และขอบคุณสัมพันธไมตรีอันดีจากประเทศเยอรมนีที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในหลายภาคส่วน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้น เพื่ออนาคตของประชาชนรุ่นต่อไป

คลิปแนะนำอีจัน
เอ็นดู ทัดดอกไม้ร้องเพลงไทย