ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำรวจ เกาะหลีเป๊ะ ตรวจสอบ 5 ปัญหาสาธารณูปโภค

กรณี ปัญหาหลัก ไฟฟ้า น้ำ ระบบสาธารณสุข ขยะ และการบริการจัดการท่องเที่ยว ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตบนเกาะอย่างยั่งยืน

ชาวบ้านเกาะหลีเป๊ะวอนขอความช่วยเหลือผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังไม่มีน้ำประปาใช้ ค่าไฟแพง ขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคจำเป็น !

ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงติดตาม กรณีปัญหาเชิงระบบ 5 ปัญหาหลัก ไฟฟ้า น้ำ ระบบสาธารณสุข ขยะ และการบริการจัดการท่องเที่ยว ที่ต้องเร่งจัดการให้มีสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตบนเกาะอย่างยั่งยืน หวังเกิด “หลีเป๊ะโมเดล”

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดสตูลครั้งนี้สืบเนื่องจาก เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้สำนักงานฯ ศึกษารวบรวมข้อมูลและลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงสภาพปัญหา อุปสรรครวมทั้งข้อเสนอแนะโครงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ และมุ่งแก้ไขปัญหาเชิงระบบเพื่อให้ระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตบนเกาะหลีเป๊ะอย่างยั่งยืน

การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อเร่งตรวจสอบและรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ ประกอบการพิจารณาหาทางออกให้ครอบคลุมทุกมิติ ร่วมกับนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยลงพื้นที่ปัญหา เช่น หมู่บ้านชาวประมง โรงพยาบาลฯ โรงงานกำจัดขยะ จุดขึ้นสายเคเบิ้ลไฟฟ้า และจุดอื่นๆ ที่มีปัญหาระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ


จากการรับฟังปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ หมู่บ้านชาวเลอุลักลาโว้ย นับหลายร้อยครัวเรือนที่อาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล บางส่วน สะท้อนปัญหาว่าปัญหาหนักที่สุดคือค่าไฟฟ้าที่มีราคาแพง ขอความช่วยเหลือในการลดค่าใช้จ่าย ในยุคสภาวะเศรษฐกิจในช่วงโควิด- 19 นี้ ซึ่งบนเกาะหลีเป๊ะ ชาวบ้าน และผู้ประกอบการต้องใช้ไฟฟ้าราคาสูงกว่าปกติ 3-4 เท่า อยู่ที่หน่วยละ 18-25 บาท บางครัวเรือนต้องแบกภาระค่าไฟฟ้า 2,000-3,000 บาท/เดือน ถ้าบางเดือนไม่มีจ่ายก็ต้องถูกตัดไฟ เพราะโรงไฟฟ้าบนเกาะหลีเป๊ะ เป็นของเอกชน ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคอุปโภค บนเกาะยังไม่มีระบบน้ำประปา ปัญหาการสาธารณสุข ที่ยังมีเพียงโรงพยาบาลขนาดเล็ก รองรับได้เพียง 3 เตียง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยบนเกาะ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาการบริหารจัดการขยะบนเกาะหลีเป๊ะ และการบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ

หลังลงพื้นที่บนเกาะหลีเป๊ะ ได้ประชุมร่วมกับจังหวัดสตูล เพื่อสรุปหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็นประเด็นที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วน 5 ประเด็นหลักได้แก่

1.ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า ราคาค่าไฟฟ้าสูงกว่าปกติ โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ผ่านโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้พื้นที่เกาะต่าง ๆ (เกาะหลีเป๊ะ) ซึ่งใช้ระบบเคเบิลใต้น้ำน่าจะเหมาะสมที่สุด

และได้ข้อสรุป จุดขึ้นสายเคเบิลบริเวณเกาะหลีเป๊ะเป็นที่ยุติ หลังจากนี้การไฟฟ้าฯ จะร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลเร่งขับเคลื่อนโครงการ ให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถใช้กระแสไฟฟ้าได้ในปี 2569

2. ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคและอุปโภค ยังไม่มีระบบน้ำประปา โดยการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสตูล ได้เตรียมศึกษาและสำรวจเส้นทางของร่องน้ำเพื่อไม่ให้กระทบกับแนวปะการัง ก่อนจะทำท่อส่งน้ำจากเกาะอาดัง คาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ส่วนแผนระยะสั้น โดยการขุดบ่อบาดาล จำนวน 2 บ่อ ซึ่ง สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 12 จะดำเนินการคาดว่าแล้วเสร็จ ในอีก 5 เดือนข้างหน้า

3.ปัญหาการสาธารณสุข ที่ยังมีเพียงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาดเล็ก ซึ่งจังหวัดสตูลได้รับการจัดสรรงบประมาณจากการประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่เมื่อปลายปี 2564 เบื้องต้นจังหวัดต้องศึกษาความเป็นไปได้หาพื้นที่ใหม่ที่เหมาะสมสร้างโรงพยาบาล หรือจัดตั้งเป็นศูนย์ราชการ มีสถานีตำรวจและหน่วยงานอื่นๆอยู่ในจุดเดียวกันเพื่ออำนวยความสะดวกยิ่งขึ้น

4. ปัญหาการบริหารจัดการขยะบนเกาะหลีเป๊ะเน้นสร้างการรับรู้และจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ และหาสถานที่เก็บขยะที่เหมาะสม โดย อำเภอเมืองสตูลร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสตูล คณะทำงานแก้ไขปัญหาขยะและน้ำเสีย ต้องเร่งแก้ไขปัญหารอบด้าน และ อบต.เกาะสาหร่ายในฐานะที่เป็นท้องถิ่น มีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการร่วมกับ อำเภอส่วนหน้าเกาะหลีเป๊ะ

5. การบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ โดยเฉพาะความปลอดภัย เนื่องจากหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหาด (Life guard) ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและลดการเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินนั้น คาดว่าจะมีการสร้างศูนย์บริการการท่องเที่ยวในระยะต่อไป แต่ในระยะสั้นให้ทางสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล จัดเจ้าหน้าที่ Lifeguard ลงมาเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวประจำชายหาด

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเป็นองค์กรกลางในการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อำเภอเมืองสตูล องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสตูล การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสตูล การประปาส่วนภูมิภาค เขต 4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล ที่ปรึกษา หอการค้า ไทย หอการค้าจังหวัดสตูล ฝีมือแรงงานจังหวัดสตูล ท้องถิ่นจังหวัด ที่ดิน จังหวัด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) อุทยานแห่งชาติตะรุเตา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมประมง สำนักงานประมงจังหวัดสตูล สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สตูล สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อผลักดันทุกภาคส่วนร่วมมือเดินหน้า “โครงการการดำเนินการจัดให้มีสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตบนเกาะหลีเป๊ะอย่างยั่งยืน” แก้ไขปัญหาบนเกาะหลีเป๊ะแบบบูรณาการครอบคลุมทุกมิติ ตั้งเป้าให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระยะยาว รวมถึงเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันในพื้นที่เกาะท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป

สำหรับเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ประกอบด้วย 2 หมู่บ้านคือหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 มี พื้นที่ 1.96 ตารางกิโลเมตรมีประชากรจำนวน 579 ครัวเรือน และมีประชากรแฝงจำนวน 1,200 คน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกความโดดเด่นของธรรมชาติและความสวยงามของท้องทะเลและหาดทรายประกอบด้วยความสมบูรณ์ของปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ในพื้นที่น้อยกว่า 2 ตารางกิโลเมตร มีโรงแรมจำนวน 128 แห่ง ประกอบด้วยห้องพักประมาณ 3,000 ห้องและในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกาะหลีเป๊ะกว่า 356,000 คนเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 355,299 คนและนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 849 คน สร้างรายได้ให้กับจังหวัดสตูลกว่า 1,700 ล้านบาท

คลิปแนะนำอีจัน
ทั้งงง ทั้งช้ำ! สาวไทย โดนปฏิเสธเข้าเยอรมัน กลัวไปขายตัว