อดีต ผอ. ส่วนรังวัดที่ดินป่าไม้ ชี้ แนวเขตอนุรักษ์ ต้องเชื่อกรมอุทยานฯ

อดีต ผอ.ส่วนรังวัดแนวเขตที่ดินป่าไม้ ระบุ ปัญหาแนวเขตอนุรักษ์ เกิดจากการทำแผนที่หลายมาตราส่วน ชื้ เรื่องแนวเขตต้องเชื่อกรมอุทยานฯ เพราะเขาอยู่กับป่า

จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบพบหมุด ส.ป.ก. 4-01 ปริศนา โผล่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่งผลให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนในการกำกับดูแลต้องเข้ามาตรวจสอบประเด็นดังดังกล่าว เช่นเดียวกับทาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึง กรมแผนที่ทหาร ที่ต้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบหาแนวหลักเขตที่ถูกต้อง พร้อมสอบถามหาข้อมูลผู้ที่ครอบครองว่ามีความเป็นมาอย่างไร  

ต่อมาวานนี้ 21 ก.พ. 67 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย ส.ป.ก. ให้มีการยกเลิกเอกสารสิทธิทั้งหมดทุกแปลง พร้อมเตรียมออกแนวทางการปฏิบัติ ห้ามและหลีกเลี่ยงไม่ให้จัดสรรที่ดินที่มีแนวเขตชนกันระหว่างพื้นที่ป่าหรือพื้นที่อุทยานฯ ให้เกษตรกรทำกินอย่างเด็ดขาด และจะดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นต่อไป 

อย่างไรก็ตาม จากประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ อาจเกิดจากข้อจำกัดในการทำแผนที่เขตอนุรักษ์ ที่มีหลากหลายมาตราส่วนซึ่งทำให้ขาดความละเอียด โดยเฉพาะแผนที่รุ่นเก่าอย่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่สำรวจตั้งแต่ปี 2502 

นายอุดมพร ศิริรักษ์ อดีตผู้อำนวยการส่วนรังวัดแนวเขตที่ดินป่าไม้ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Pitta Sirirak อธิบายถึงปัญหาเรื่องแนวเขตป่าอนุรักษ์ ว่า 

ปัญหาเรื่องแนวเขตป่าอนุรักษ์ ที่คนนอกหน่วยงานป่าอนุรักษ์ มักจะไม่เข้าใจ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ก็คือ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตวนอุทยาน เขตสวนพฤกษศาสตร์ และเขตสวนรุกขชาติ ที่ได้ประกาศเขตตามกฎหมาย มีแผนที่กำหนดขอบเขตอย่างชัดเจน  

แต่ด้วยข้อจำกัดของการทำแผนที่ทำให้แผนที่ป่าอนุรักษ์ ที่จัดทำขึ้นมามีหลากหลายมาตราส่วน หากมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ มาตราส่วนแผนที่ก็จะมีขนาดเล็ก เช่น มาตราส่วน 1:250,000 1:300,000 หรือเล็กสุดก็ 1:600,000 ชึ่งขนาดมาตราส่วนแผนที่แบบนี้ จะหาความละเอียดของแผนที่ได้ยากโดยเฉพาะแผนที่รุ่นเก่า เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่สำรวจรังวัดแนวเขตตั้งแต่ปี พศ 2502-2503 แล้วจัดทำแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตั้งแต่ปี 2505  

ดังนั้น ถ้าจะพูดถึงแนวเขตป่าอนุรักษ์ คนทั่วไปจะดูแต่แผนที่แนบท้ายฯที่ประกาศเขตอย่างเดียว เพราะถือว่าเป็นแนวเขตตามกฎหมาย แต่หากคนในหน่วยงานป่าอนุรักษ์ (จะมีสักกี่คน) จะทราบดีว่า นอกจากแผนที่แนบท้ายตามกฎหมายแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่น ฯ ซึ่งจะต้องนำมาพิจรณาประกอบกับแผนที่ เช่น สมุดจดรายการรังวัด หลักหมุด หรือหลักเขตที่ปักไว้เพื่อแสดงแนวเขตในพื้นที่ มีทางลำลองที่แสดงแนวเขต หรือถนนตรวจการณ์ในพื้นที่ และยังมีแนวเขตที่เจ้าหน้าที่ควบคุมและลาดตระเวน ป้องกันการบุกรุก และรับรู้ ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นเรื่องแนวเขตป่าอนุรักษ์ต้องเชื่อเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับป่าอนุรักษ์  

สรุปให้ชัดเจน แนวเขตป่าอนุรักษ์ ต้องเชื่อกรมอุทยานฯ ไม่ใช่ให้หน่วยงานอื่น มาบอกว่าแนวเขตอยู่ตรงนั้น อยู่ตรงนี้ หากจะถามว่าแล้วแผนที่แนบท้าย มาตราส่วน 1:250,000 1:300,000 แล้วในพื้นที่จริงจะรู้ได้ยังไงว่าอยู่ตรงไหน เรียนว่า วันนี้ มีระเบียบสำนักนายกฯ กำหนดให้หน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐจัดทำแผนที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน คือ จัดทำเป็นมาตราส่วน  1:4,000  ซึ่งด้วยความพร้อมของข้อมูล เครื่องไม้เครื่องมือ บุคลากร ทำให้วันนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดทำแผนที่ป่าอนุรักษ์ ทุกพื้นที่ เป็นแผนที่มาตรา ส่วน 1:4,000 หมดแล้ว รวมถึงได้จัดทำแนวเขตในรูปแบบเชิงเลข (shape file) หมดแล้ว ดังนั้น วันนี้ หากมีการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แม้เพียง 3-4 เมตร กรมอุทยานฯก็สามารถตรวจสอบได้ว่าอยู่ในหรือนอกป่าอนุรักษ์