
จากกรณีที่วานนี้ (8 ก.ย. 2566) บริเวณชายหาดบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พบปลาหลากหลายชนิดถูกคลื่นซัดมาตายเกลื่อนชายหาด ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวล
ส่วนสาเหตุปลาตายเกลื่อนครั้งนี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า
สาเหตุปลาน่าจะตายเพราะปรากฏการณ์ "แพลงก์ตอนบลูม" น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวปี๋จากบางแสนถึงศรีราชา ตามที่คณะประมงสำรวจไว้เมื่อ 2-3 วันก่อน รุนแรงจนออกซิเจนในน้ำเหลือไม่พอให้ปลาหายใจ
"แพลงก์ตอนบลูม" จะหมดไปเมื่อเข้าหน้าหนาว ทว่า…มันจะกลับมาใหม่ในหน้าฝนปีหน้า และอาจมากขึ้นถี่ขึ้น
ซึ่งมันเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ทางออกจึงไม่ง่าย แต่เรายังพอทำอะไรได้บ้าง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แนะนำดังนี้
1. เร่งสนับสนุนการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางเตือนภัย / แก้ไขระยะสั้น-กลาง-ยาว จำแนกผลกระทบที่ซับซ้อนในพื้นที่
2. ยกระดับประเด็นปัญหา ตั้งคณะอะไรสักอย่างมารับมือผลักดัน โดยอิงกับหลักวิชาการ เพราะความรุนแรงไม่เหมือนก่อน มันเกินกว่ากลไกปรกติจะทำงานไหว
3. ภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ช่วยผลักดันและสนับสนุนนโยบาย / งบประมาณ เพราะความเดือดร้อนมันจริงจังและรุนแรง
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อข้าวปลาอาหาร ต่อรายได้จุนเจือครอบครัว มันเยอะกว่าเงินที่ใช้ลงทุนมหาศาล
อีกทั้ง ทะเลคือแหล่งกระจายรายได้ดีที่สุด สร้างอาชีพสร้างงาน ขอเพียงรักษาทะเลที่สมบูรณ์ไว้ คนริมทะเลก็ยังหาเช้ากินค่ำต่อไปได้ แต่หากทะเลกลายเป็นเช่นนี้ จะหาเช้าหาค่ำก็คงไม่พอกิน และหนี้สินก็จะตามมา
"ธรรมชาติที่ดีคือเศรษฐกิจที่ดี ธรรมชาติที่ดีคือทุกคนที่อยู่รอบๆ มีความสุข มีอาชีพมีรายได้เพียงพอ"
"แต่ถ้าทะเลกำลังตาย จะกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเท่าไหร่ สุดท้ายจานข้าวก็ว่างเปล่าครับ"