
ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงเกินมาตรฐาน ทำให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงนามในประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจัดระบบการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เป็นเวลา 1 วัน คือในวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2566 หากสถานการณ์ฝุ่นละออง ยังไม่คลี่คลายจะได้ออกประกาศให้ประชาชนทราบโดยเร็วต่อไป
วันนี้ (7 เม.ย.66) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานว่า จุดความร้อนทั่วประเทศวานนี้ (6 เม.ย.66) มีกว่า 3 พันจุด โดยที่ จ.เชียงใหม่ อยู่ที่ 302 จุด และยังพบมากที่สุดในป่าอนุรักษ์เกือบ 2 พัน ส่วน PM2.5 ภาคเหนือยังวิกฤตหลายจังหวัดสูงกว่าค่ามาตรฐานกว่า 6 เท่า!!!
จากข้อมูลดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) วันที่ 6 เมษายน 2566 ไทยพบจุดความร้อน 3,280 จุด โดยมีเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ยังคงนำสูงสุดอยู่ที่ 9,653 จุด, พม่า 7,161 จุด, เวียดนาม 1,516 จุด, กัมพูชา 767 และมาเลเซีย 17 จุด
ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศของ GISTDA กล่าวว่า จุดความร้อนในประเทศไทย ยังคงพบในพื้นป่าอนุรักษ์มากที่สุดถึง 1,951 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 879 จุด, พื้นที่เกษตร 191 จุด, พื้นที่เขต สปก. 129 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 122 จุด, และพื้นที่ริมทางหลวง 8 จุด
จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ เชียงใหม่ 320 จุด, เชียงราย 289 จุด และแม่ฮ่องสอน 281 จุด
ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 เช้าวันนี้ภาคเหนือยังคงน่าเป็นห่วงมากเช่นเคย เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 09:00 น. ที่ผ่านมาพบหลายจังหวัดมีค่า PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง และมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน#เชียงใหม่ พะเยา ที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดกว่า 300 ไมโครกรัม หรือกว่า 6 เท่าของเกณฑ์ค่ามาตรฐาน
สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ
ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้งและสวมแมสก์เมื่อต้องออกนอกบ้านนะคะ