ไวรัส RSV เรื่องน่ากลัว ที่ทุกคนต้องรู้ ที่มากับช่วง ปลายฝนต้นหนาว

เพจ “Infectious ง่ายนิดเดียว” โพสต์แจงข้อมูล ไวรัส RSV เรื่องน่ากลัว ที่ทุกคนต้องรู้ ที่มากับช่วง ปลายฝนต้นหนาว ชี้ พบมาก ในเด็กแรกเกิด

วันนี้ (27 ต.ค. 63) ช่วง "ปลายฝนต้นหนาว" แบบนี้ หลายคนคงพบเห็น เพื่อน ญาติ คนใกล้ชิด ไม่สบาย เป็นหวัด เป็นไข้ มีน้ำมูก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะอากาศเปลี่ยนแปลง ร่างกายอยู่ในช่วงปรับตัว หรือสาเหตุอื่น ๆ
แต่วันนี้ อีจัน นำข้อมูลเรื่อง “ ไวรัส RSV ” ซึ่งมีการแพร่ระบาด และพบผู้ป่วยจำนวนมากในช่วง ปลายฝนต้นหนาว โดยเพจ “Infectious ง่ายนิดเดียว” ได้โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ไวรัส RSV ดังนี้

– ไวรัส RSV ชื่อเต็มคือ Respiratory syncitial virus อยู่ในกลุ่ม Pneumoviridiae ลักษณะเป็น ไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single stranded RNA) ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2498 ในลิงแชมแปนซี โดยพบการระบาดในคน ช่วงปลายฤดูฝนต่อต้นฤดูหนาว โดยในประเทศไทย พบว่ามีการระบาดในช่วง เดือนมิถุนายน-ตุลาคม มี 2 กลุ่มย่อย (sub group) คือ A และ B

– ไวรัส RSV ทำให้เกิด โรคปอดบวม (Pneumonia) หรือ หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ส่วนใหญ่พบในคนไข้เด็ก โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 2 ปี จนถึง 5 ปี มีอาการไม่รุนเเรง เป็นไข้ เป็นหวัด มีน้ำมูก จนถึงอาการรุนแรง คือ ปอดอักเสบ

– พยาธิกำเนิดสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ Spasm (ทำให้หลอดลมไวเเละตีบ เมื่อได้สิ่งกระตุ้น เช่น ควันบุหรี่ สารที่แพ้) , Swelling (ทำให้หลอดลมบวม เกิดการอุดตัน หายใจเสียงหวีด), Secretion (ทำให้มีเสมหะ มีน้ำมูกมาก) ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ใช้ คือ เม็ดเลือดขาว ชนิด T-cell lymphocyte (CD8)
หากติดเชื้อในทางเดินหายใจ ไวรัสจะทำลายเยื่อบุภายในระบบทางเดินหายใจ (ciliated epithelial cell) ทำให้เกิดเมือก หรือ เสมหะ (mucus) และเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจที่ตาย (sloughed epithelial cell debris) ในทางเดินหายใจ และมีปริมาณ neutrophil มาก

– ระยะฟักตัวของไวรัส ประมาณ 2- 8 วัน โดยจะติดต่อทางการสัมผัส สารคัดหลั่ง น้ำมูก เสมหะ และละอองฝอย อาการมีได้ตั้งแต่เล็กน้อย ถึง รุนแรง ได้แก่ ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ มีไข้ ไอ เสมหะ น้ำมูก ไข้อาจพบสูงหรือต่ำ อาจไม่ต้องแอดมิท หรือ นอน รพ. ถ้าอาการไม่รุนแรง หรือทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ จะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หน้าอกบุ๋ม เขียว ถ้ารุนแรงอาจพบภาวะหายใจล้มเหลว ออกซิเจนในเลือดต่ำและต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือใช้เครื่องช่วยหายใจแบบออกซิเจนชนิดพิเศษ

– การส่งตรวจเพื่อวินิจฉัย ส่วนใหญ่หมอเด็ก หมอทั่วไป จะอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกาย พบลักษณะมีเสียงเสมหะในทางเดินหายใจ (coarse/fine crepitation) และหลอดลมตีบได้ยินเสียงหวีด (wheezing) ถ้าจะตรวจยืนยัน (ไม่สามารถตรวจได้ทุก รพ.) ด้วยการป้ายคอหอย หรือ โพรงจมูก เพื่อตรวจหาเชื้อ

– การรักษา ไม่มียารักษาเฉพาะ แต่ใช้ยากลุ่มต้านไวรัสชื่อ Ribavrin มีฤทธิ์ในหลอดทดลอง มีการนำมาใช้เป็นชนิดยาพ่น แต่ไม่แพร่หลาย และไม่มีใช้ในไทย ส่วนยาปฏิชีวนะ ไม่มีความจำเป็น ยกเว้น มีภาวะติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
ซึ่งเด็ก จะมีอาการ ไข้สูงลอย ไอ หอบมาก ซึม ตรวจเลือดพบ WBC สูง และ neutrophil เด่น ทำ CXR พบ patchy หรือ alveolar infiltration บ่งบอกว่า เป็นแบคทีเรีย การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ ที่เป็นมาตรฐาน ได้แก่ การให้สารน้ำ ระวังภาวะขาดน้ำ ให้ออกซิเจน (มีหลายชนิด ให้แบบทางสายจมูก ให้แบบออกซิเจน mask ให้ แบบ high flow) ดูดเสมหะ เคาะปอด เพื่อระบายเสมหะ

– ป่วยด้วย ไวรัส RSV สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยมีหลายการศึกษา พบว่า ถ้ามีประวัติในครอบครัวเป็นภูมิแพ้หรือหอบหืด อนาคตเด็กอาจเป็นหอบหืดตามมาได้ บางการศึกษา พบว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดหอบหืดในอนาคต แต่กลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วรุนแรง ได้แก่ คลอดก่อนกำหนด อายุน้อย มีโรคประจำตัว ปอด หรือ หัวใจพิการ

ไวรัส RSV เรื่องน่ากลัว ที่ทุกคนต้องรู้ ที่มากับช่วง ปลายฝนต้นหนาว

ส่วนการป้องกัน ไวรัส RSV นี้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาวัคซีนอยู่ แต่เราสามารถป้องกันได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงการติดต่อจากคนที่ป่วย ถ้ามีอาการไข้หวัดเเละไม่ดีขึ้นใน 3 วัน หรือมีอาการไอ หายใจหอบ เหนื่อย ให้มาพบแพทย์ ซึ่งมาตรการป้องกันโควิด-19 เช่น ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง
รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ก็ช่วยป้องกันได้ เพราะ ติดต่อทางเสมหะ ไอ จาม

ทั้งนี้ อาจพบภาวะติดเชื้อร่วมกับเชื้ออื่นได้ ซึ่งทางเพจ “Infectious ง่ายนิดเดียว” แนะนำว่า ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือ วัคซีนโรคไอพีดี (เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae) โดยเฉพาะคนไข้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี คนที่มีโรคประจำตัว อ้วน ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ มีโรคปอด หอบหืด คลอดก่อนกำหนด และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด