กรมควบคุมมลพิษ เตือน ไม่ควรเผา ขยะติดเชื้อ ใน เตาเผาศพ

เตาเผาศพ ไม่ได้เอาไว้ เผาขยะ ! กรมควบคุมมลพิษ เตือน ไม่ควรเผา ขยะติดเชื้อ ใน เตาเผาศพ ใช้ความร้อนต่างกัน เเถมก่อมลพิษ

จากกรณีการนำขยะติดเชื้อจากผู้ป่วยโควิด-19 ไปเผาในเตาเผาศพ จนทำให้เตาเผาศพชำรุดเกิดไฟไหม้เสียหายนั้น

ซึ่งข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า

1. เตาเผาศพส่วนใหญ่ มีการใช้อุณหภูมิในการเผาต่ำกว่าเตาเผาขยะติดเชื้อ ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดไว้ว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ จะต้องใช้ความร้อนสูง

2. เตาเผาศพไม่มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ จึงก่อให้เกิดปัญหากลิ่น ฝุ่นละออง ก๊าซพิษ รวมถึงโลหะหนักต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

3. การก่อสร้างเตาเผาศพไม่ได้ถูกออกแบบให้มีความแข็งแรง คงทน ที่จะเผาอย่างต่อเนื่องทุกวัน จึงไม่ควรนำขยะติดเชื้อไปเผาในเตาเผาศพ

โดยในวันนี้ (16 ก.ย.64) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า การกำจัดขยะติดเชื้อทั้งที่เกิดจากการรักษาตัวที่บ้าน การรักษาตัวในชุมชน หรือศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อก่อนส่งต่อ จะต้องมีการประสานงานกับ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงมาเก็บรวบรวมเพื่อนำขยะไปเผาในเตาเผาที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งจะมีห้องเผาที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส และมีห้องเผาควันด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส มีการควบคุมมาตรฐานอากาศเสียที่ปล่อยออกจากเตาเผาตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีความปลอดภัย

จากปัญหาขยะติดเชื้อล้นระบบ ซึ่งตกค้างอยู่ที่เตาเผาของ อปท. และของเอกชน ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (กรมอนามัย) กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) กระทรวงพลังงาน (สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน) กำลังดำเนินการปรับเกณฑ์ภาครัฐอย่างเร่งด่วน ให้สามารถนำขยะติดเชื้อล้นระบบไปกำจัดในเตาเผาโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงเป็นการชั่วคราวได้ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นายอรรถพล กล่าว