กรมราชทัณฑ์ ยอมรับ เรือนจำคับแคบ แออัด ตรวจเชิงรุก อาจพบมากกว่านี้

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับ เรือนจำมีความเก่า คับแคบ ค่อนข้างแออัด ย้ำ ตรวจหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง อาจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น พยายามสกัดกั้นอย่างเต็มความสามารถ

(17 พ.ค.64) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวความคืบหน้า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ว่า ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขัง 311,540 ราย ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนสูง เมื่อเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ประมาณ 13,000 คน และพื้นที่เรือนจำที่มีความเก่าคับแคบ จนทำให้มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแออัด ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ ได้พยายามสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างเต็มความสามารถ ด้วย 3 มาตรการ คือ

1.คนในห้ามออก

2.คนนอกห้ามเข้า

3.การกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ ผู้ต้องขังไปโรงพยาบาล และผู้ต้องขังออกศาล เป็นระยะเวลา 21 วัน

และต้องมีการ SWAB เพื่อตรวจเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง คือก่อนเข้าห้องกักโรค และก่อนพ้นระยะกักตัว จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อทั้ง 2 ระลอกได้เป็นอย่างดี โดยมีสถิติผู้ติดเชื้อเพียงหลักหน่วย และหลักสิบคน ซึ่งสอดคล้องกับยอดผู้ติดเชื้อภายนอกเรือนจำ จนกระทั่งระลอกปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดกว้างขวาง พบการติดเชื้อในผู้ต้องขังจำนวนที่สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก

นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า เรือนจำและทัณฑสถาน อาจดูเหมือนเป็นพื้นที่ปิด สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดำเนินงานราชทัณฑ์ไม่สามารถควบคุมปริมาณบุคคลเข้า-ออกได้ 100% เนื่องจากเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่สามารถปฏิเสธการรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ และการนำตัวผู้ต้องขังออกศาลได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเองที่ต้องมีการหมุนเวียนการปฏิบัติงานอยู่ทุกวัน อีกทั้งสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ยังมีระยะฟักตัวที่นานขึ้น และไม่แสดงอาการ ทำให้อาจเกิดการเล็ดลอดของเชื้อหลังจากผ่านพ้นระยะกักตัวได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ จะดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยใช้มาตรการ Bubble and Seal และตรวจหาเชื้อเชิงรุก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต้องเร่งการ SWAB ให้ครบ 100% เรือนจำและทัณฑสถานที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ ให้เร่งคัดแยกผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเร่งดำเนินการ คัดกรองให้เร็ว เอกซเรย์ให้เร็ว และคัดแยกให้เร็ว เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ในการรักษา ลดการแพร่เชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตได้ในที่สุด ส่วนเรือนจำและทัณฑสถานอื่นๆ ทั่วประเทศ ให้เตรียมพร้อมรับมือ จัดพื้นที่เตรียมคัดแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังต่างๆ ออกจากกัน และเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในกรณีจำเป็น

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศบค.รท.) ขึ้น เพื่อรับมือ แก้ไข และจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้มีความชัดเจน และการจัดหายาเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้เพียงพอ รวมถึงเป้าหมายสำคัญ คือการเร่งจัดหาวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังให้ครบทุกคน ทั้งนี้ อยากให้เชื่อมั่นในการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ ว่าเป็นการดำเนินการควบคุมเพื่อแก้ไข และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ตามหลักสิทธิมนุษยชน และจะรักษา ดูแลผู้ต้องขังทุกคนอย่างเต็มศักยภาพให้ดีที่สุด

ด้านนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศบค.รท.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากจะเป็นวิกฤติครั้งใหม่ที่ทั่วโลกต้องเผชิญแล้ว ในครั้งนี้ยังมีการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างรวดเร็ว และตรวจพบเชื้อได้ลำบากกว่าที่ผ่านมา ในบางรายต้องตรวจเชื้อซ้ำถึง 3 ครั้งจึงจะพบเชื้อ แม้ว่าจะมีนโยบายให้ผู้ต้องขังทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ในทางปฏิบัติ เวลาอาบน้ำ รับประทานอาหาร ก็จำเป็นที่จะต้องถอดหน้ากากอนามัย อันเป็นจุดที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ซึ่งเมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อในเรือนจำรายแรกๆ กรมราชทัณฑ์ได้เร่งดำเนินการสอบสวนโรค และเร่งการตรวจหาเชื้อให้ครบ 100% เพื่อเป็นการค้นหาเชิงรุกอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการเอกซเรย์ปอดในผู้ติดเชื้อทุกราย เพื่อแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อตามลักษณะอาการ และเร่งการรักษาอย่างทันท่วงที สำหรับในประเด็นการรักษาดังกล่าว กรมราชทัณฑ์ ได้เตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเรือนจำ การจัดหายาต้านไวรัส และในส่วนของผู้ต้องขังที่ตรวจไม่พบเชื้อในครั้งแรก จะต้องทำการตรวจหาเชื้อซ้ำทุกๆ 7 วัน จนกว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะปกติ โดยต่อจากนี้ จะมีการตรวจค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง และอาจจะมียอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น แต่อยากให้มั่นใจว่าเป็นไปเพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด