คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เคาะ! ฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส ก.ค.นี้

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เคาะ! ฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ก.ค.นี้

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส ให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าในเดือนกรกฎาคม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วขึ้น และฉีดวัคซีนซิโนแวคสลับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ห่างจากเข็มแรก 3 – 4 สัปดาห์ เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า

โดยวันนี้ (12 ก.ค. 64) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 7/2564 โดยมีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์

ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ 4 ประเด็นต่อการควบคุมโรคโควิด 19 คือ

1.การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยห่างจากเข็ม 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วที่สุด เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า และธำรงระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบแล้วนานมากกว่า 3 เดือน จึงควรได้รับการกระตุ้นในเดือนกรกฎาคมได้ทันที อาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์

2.การให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีน

3.แนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยใช้ Antigen Test Kit ที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ โดยอนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาล และหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการตรวจ RT-PCR ที่มีมากกว่า 300 แห่ง ช่วยลดระยะเวลารอคอย และในระยะต่อไปจะอนุญาตให้ประชาชนตรวจเองได้ที่บ้าน โดยจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร กำกับการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติ

4.แนวทางการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีเงื่อนไขเหมาะสม หรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งการแยกกักในชุมชนในกรณีการติดเชื้อโควิด 19 ในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีกระบวนการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษา เช่น มีเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เครื่อง Oxymeter วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และยารักษาโรค โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร นำเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 11 กรกฎาคม 2564 ฉีดวัคซีนไปแล้ว 12,569,213 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 9,301,407 ราย เข็ม 2 จำนวน 3,267,806 ราย