คลัสเตอร์มัรกัส ยะลา ติดเชื้อ 402 ราย กระจาย 12 จังหวัดทั่วไทย !

ศบค.เผย คลัสเตอร์มัรกัส บ้านเปาะยานิ ยะลา ติดเชื้อโควิด คลัสเตอร์เดียวมากถึง 402 ราย กระจาย 12 จังหวัดทั่วไทย !

วันนี้ (21 มิ.ย.64) ที่ทำเนียบรัฐบาล ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 โดยพญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่า กรณีโรงเรียนมัรกัส ชุมชนมัรกัส บ้านเปาะยานิ จ.ยะลา ชุมชนมีโรงเรียนและสถานประกอบศาสนกิจ ซึ่งปัจจุบันรวมรายงานผู้ติดเชื้อโควิดจากคลัสเตอร์เดียวกันยืนยันทั้งหมด 402 ราย

มีการกระจายไป 12 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส 111 ราย ยะลา 102 ราย สตูล 46 ราย ปัตตานี 46 ราย สงขลา 36 ราย กระบี่ 18 ราย พัทลุง 13 ราย นครศรีธรรมราช 10 ราย สุราษฎร์ธานี 9 ราย พังงา 5 ราย ตรัง 3 ราย และภูเก็ต 3 ราย

ซึ่งกรมควบคุมโรคยืนยัน คล้ายไข้หวัดรายแรก 9 มิ.ย.64 เมื่อสอบสวนโรค ผู้ติดเชื้อคนแรกน่าจะมีตั้งแต่ประมาณ 29 พ.ค.64 แต่ตอนนั้นยังไม่รายงานเป็นคลัสเตอร์ เมื่อดูรายละเอียด ประชากรชุมชนมีประมาณ 3,000-4,000 คน จำนวนนี้เป็นนักเรียน 500 คน ตัวเลขคร่าวๆ มาจากพื้นที่ 17 จังหวัด

กรมควบคุมโรครายงานไทม์ไลน์นักเรียนที่มีพฤติกรรมติดเชื้อจะเป็นการรวมกลุ่ม มีการรับประทานอาหารร่วมกัน ทำกิจกรรมทางศาสนาโดยไม่สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย มีการใช้ถาดอาหารหรือแก้วน้ำร่วมกัน เป็นต้น

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อ การจัดการพื้นที่ได้กำหนดปิดโรงเรียน ปิดพื้นที่เสี่ยง สอบสวนโรค ค้นหาเชิงรุกในชุมชน เพื่อค้นหาคนมีสัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ ทางพื้นที่ได้มีการออกประกาศให้คนที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับนักเรียนหรือคนในชุมชน ขอความร่วมมือให้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขหรือฝ่ายปกครองในชุมชน เพื่อรับการตรวจหาเชื้อ และรับคำแนะนำเฝ้าระวังมาตรการ และมีการประสานไปยังทุกจังหวัด นักเรียนที่โรงเรียนปิด ก็ได้มีการเดินทางกลับบ้าน จังหวัดปลายทางได้รับแจ้งข้อมูลเฝ้าระวังสอบสวนโรค อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในระยะนี้ จะเห็นบ่อยในการเดินทางข้ามพื้นที่ พฤติกรรมเสี่ยงและการรวมกลุ่ม คงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด

ซึ่งในที่ประชุม ศบค.มีการหารือกันถึงกรณีโรงเรียนมีการปิดตัวลง ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของยะลา ก่อนหน้านี้ ก็มีรายงานของ พิษณุโลกและมหาสารคาม ก็มีการทบทวนมาตรการปิดโรงเรียน ที่ประชุมหารือว่าการพิจารณาสั่งปิดโรงเรียน ทางโรงเรียนจะต้องมีการปรึกษาหารือ และมีการรายงานไปยังคณะกรรมการโรคิตดต่อจังหวัดก่อนมีการปิด เมื่อปิดต้องมีมาตรการ มีระบบดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีการทำความเข้าใจกับเด็ก และผู้ปกครอง พื้นที่ หรือว่าในส่วนของจังหวัดปลายทางที่เด็กต้องเดินทางกลับบ้าน อย่างเช่น กรมควบคุมโรคเสนอว่า กรณีทีมีการปิดโรงเรียน มีการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด จะต้องมีการแนะนำให้คนที่มีการสัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำอยู่บ้านกักตัว คงไม่สามารถอนุญาตพบปะ รวมกลุ่มกับญาติมิตร ครอบครัว หรือเข้าสู่ตลาด ชุมชน อย่างนี้เป็นต้น เพราะจะกลายเป็นความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม การสั่งการของ สธ.และมท.มีการแจ้งไปยังจังหวัดทั้งต้นทางปลายทาง และมีการพยายามนำเสนอข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและครอบครัวเหล่านี้ โดยเบื้องต้น พบว่า ทางพื้นที่และองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และมีความเป็นห่วง

พญ.อภิสมัย กล่าวซึ่งทางจังหวัดแจ้งมาว่าในเดือนกรกฎาคม จะมีเทศกาลวันตรุษอีดิลอัฎฮา ซึ่งถือเป็นการเฉลิมฉลอง ของประชาชนชาวไทยมุสลิม ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะมีการรวมกลุ่ม มีการจัดเลี้ยง มีการเดินทางข้ามจังหวัด ส่วนนี้ ทางท่านจุฬาราชมนตรี ก็มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ท่านเป็นห่วงพี่น้องชาวไทยมุสลิม ขอให้มีการติดตามประกาศของพื้นที่อย่างใกล้ชิด ในช่วงนี้ขอความร่วมมือประชาชนที่มีกาติดเชื้อ ขอให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อ อย่ามีอคติ หรือเกิดการกีดกันทางสังคม ขอให้ร่วมแรงร่วมใจกันแล้วจะสามารถควบคุมการแพร่เชื้อให้อยู่วงจำกัด ก็จะสามารถดูแลทุกคนให้ปลอดภัยได้

ในส่วนของกรมควบคุมโรค รายงานว่า การติดเชื้อในส่วนของจังหวัดทางภาคใต้ กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์ มีการติดตามการค้นหาเชื้อกลายพันธุ์ด้วย เข้าใจว่าในสัปดาห์นี้ จะมีข้อสรุปและจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป