จุฬาฯ เผย ผลทดสอบ วัคซีน ChulaCov-19 ระยะแรก ยับยั้งเชื้อกลายพันธุ์ได้

จุฬาฯ เผย ผลทดสอบ วัคซีน ChulaCov-19 ระยะแรก จากอาสาสมัครจำนวน 36 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-55 ปี พบประสิทธิภาพเทียบเท่าไฟเซอร์ ยับยั้งเชื้อกลายพันธุ์ได้

วันนี้ (16 สิงหาคม 2564) ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงผลทดสอบวัคซีนเบื้องต้นของวัคซีนชนิด mRNA “ChulaCov-19” ในมนุษย์ระยะแรก โดยระบุว่ายังเป็นเพียงผลการทดลองเบื้องต้นจากอาสาสมัครจำนวน 36 คนซึ่งมีอายุระหว่าง 18-55 ปี โดยยังไม่ได้มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

ซึ่งจากผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า วัคซีน “ChulaCov-19” สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนตี้บอดี้ได้สูงเทียบได้กับวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ โดยแอนตี้บอดี้ที่สูงนี้ สามารถยับยั้งเชื้อกลายพันธุ์ ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า

อีกทั้งสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด ที-เซลล์ ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อได้ โดยสามารถยับยั้งการจับของโปรตีนที่ปุ่มหนาม 94% เทียบเท่าไฟเซอร์ ขณะที่ไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงใด ๆ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นเล็กน้อยหรือปานกลาง เช่น เจ็บเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด ไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย โดยมีอาการดีขึ้นภายใน 1-3 วันโดยเฉลี่ย

ซึ่ง ศ.นพ.เกียรติ คาดการณ์ว่าอย่างเร็วที่สุด คนไทยจะได้ฉีดวัคซีน “ChulaCov-19” ในช่วงเมษายนปีหน้า แต่จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่าง ประกอบด้วย

1.ต้องไม่ระดมทุนแบบเดิม : ต้องมีเป้าหมายร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ต้องมีงบที่เพียงพอรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

2.กติกาในการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่ชัดเจน : ต้องมีกติกาออกมาชัดเจนภายในเดือนหน้าจาก อย. ว่าการขึ้นทะเบียนจะต้องทำวิจัยระยะ 2B หรือระยะ 3 อย่างไรจึงจะเพียงพอ

3.โรงงานผลิต : ต้องเร่งดำเนินการให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพและจำนวนมากได้

4.นโยบายการจองและจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าต้องมีความชัดเจน

ทั้งนี้ทางศูนย์วิจัยวัคซีนฯ กำลังดำเนินการทดสอบกับอาสาสมัครสูงอายุ ระหว่าง 56-75 ปี รวมทั้งกำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่รองรับไวรัสกลายพันธุ์โดยเฉพาะอีกด้วย

คลิปอีจันแนะนำ