ทารกติดโควิด มากถึง 110 ราย ดับ 20 ราย (1 ธ.ค. 63 – 7 ส.ค. 64)

สธ. เผยข้อมูล ในช่วง 9 เดือน พบ ทารกติดโควิด 110 ราย เสียชีวิต 20 ราย นับตั้งแต่ 1 ธ.ค. 63 – 7 ส.ค. 64

การแพร่ระบาด โควิด ในประเทศไทยทำให้มี ยอดผู้ติดเชื้อโควิด พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าเศร้าคือ ในจำนวนผู้ติดเชื้อในบางวันเราจะเห็นว่า มีคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ติดโควิด ด้วย ซึ่งคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์นั้น จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ เนื่องจากการรักษา คุณแม่ตั้งครรภ์ ติดโควิด ก็คือจะต้องรักษาทั้งแม่และลูกในครรภ์ไปพร้อมๆ กัน

จากรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด ในคุณแม่ตั้งครรภ์ หลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด ของกระทรวงสาธารณสุข โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 63 จนถึง 7 ส.ค. 64 พบว่า มีการติดเชื้อสะสมทั้งหมด 1,801 ราย แยกเป็นคนไทย 1,173 ราย แรงงานข้ามชาติ 628 ราย โดยในจำนวนนี้มี ทารกติดเชื้ออยู่ด้วย 110 ราย รวมถึงพบว่า มีคุณแม่เสียชีวิต 31 ราย ทารกเสียชีวิต 20 ราย จากรายงานข้างต้นพบว่า มีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนแล้วแค่เพียง 10 รายเท่านั้น!!

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า คุณแม่ที่กำลังท้อง สามารถฉีด วัคซีนโควิด ได้หรือไม่? เพื่อลดอัตรการเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า

แม่ท้อง แม่ให้นม กับ คำถาม วัคซีนโควิด ฉีดไม่ฉีด? แพ้ไม่แพ้ ?

1.ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ประกาศคำแนะนำ ให้แม่ท้อง เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง ต่อโรครุนแรงหากมีการติดเชื้อโควิดแล้วเช่นเดียวกับนานาชาติ เนื่องจาก แม่ท้อง มีสภาพโดยพื้นฐาน มีภาวะ ภูมิคุ้มกันต่ำกว่าตอนไม่ท้อง จากข้อมูลสถิติ เวลาคนท้องมีการติดเชื้อโควิด จะมีการเจ็บป่วยรุนแรงกว่า ต้องเข้าไอซียูมากกว่า และคนท้องมีลูกอยู่ในท้องด้วย และอาจกระทบลูกที่มีอยู่แล้วที่บ้านด้วย

2.การพบแม่ท้องที่ติดเชื้อโควิด แสดงถึงในชุมชนมีการติดเชื้อโควิดมาก เพราะโดยปกติแม่ท้องมักมีการเก็บตัวอยู่บ้านมากกว่าคนทั่วไป การได้รับเชื้อมักมาจากสามี หรือคนในบ้านที่นำเข้ามา เช่น สามีแข็งแรงดี แต่มีเชื้อในตัวได้ แม่ท้องจึงติดเชื้อได้ง่าย และมีอาการมากกว่า เสี่ยงรุนแรงมากกว่า

3.เราได้เห็นภาพความทุลักทุเลของแม่ท้องที่ติดเชื้อโควิด แล้วมาคลอดลูก นับแต่การแต่งตัวและใส่อุปกรณ์ป้องกันการกระจายเชื้อ ทั้งแม่ท้อง และบุคลากร การคลอดที่ต้องระวังการกระจายเชื้ออย่างสูง แม่มีโอกาสได้รับการผ่าตัดคลอดสูง ด้วยบริบทความจำเป็นของในสถานบริการแต่ละแห่ง ทั้งที่การติดเชื้อโควิดไม่ใช่ข้อบ่งชี้การผ่าตลอดทางหน้าท้อง การต้องแยกแม่แยกลูกสูงขึ้น ทั้งที่คำแนะนำกรณีแม่อาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องแยกแม่แยกลูก ขอให้ใช้มาตรการ ป้องกัน ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่อุ้มหอมกอด

แต่ความเป็นจริง กรมอนามัย ได้ลงพื้นที่ดูแนวทาง มีการแยกแม่ แยกเลี้ยงลูกต่างหาก ลูก และ แม่กลับบ้านคนละที ทำให้โอกาสได้นมแม่ลดลง บางครอบครัวติดเชื้อกันทั้งครอบครัว ไม่มีคนจะเลี้ยงลูก ลูกน้อยก็ต้องอยู่กับพยาบาล ในวัยที่ต้องการแม่มาก คุณแม่จึงจำเป็นต้องมีทีมคอยช่วยเตรียมเลี้ยงลูก นอกเหนือไปจากคนในบ้านเป็นคนที่ไว้ใจได้และเข้าไปพบแพทย์ด้วยกันตั้งแต่ก่อนคลอด

4.การจะตัดภาพเหล่านี้ออก วัคซีนเป็นคำตอบที่สำคัญ แล้วจะฉีดตัวไหน ในภาพของโลก วัคซีนสำหรับคนท้องที่มีการศึกษารองรับสำหรับคนท้อง คือ วัคซีนกลุ่ม mRNA คือ ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ซึ่งในประเทศไทยทั้ง ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า จากการศึกษาเบื้องต้นทั้งหมด ไม่มีสัญญาณที่จะบ่งชี้ว่า วัคซีนเหล่านี้จะทำให้เกิดผลเสียในคนท้อ ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำให้ชั่งความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติที่อาจรุนแรง กับ ความเสี่ยงจากการไม่มีข้อมูลของการฉีดวัคซีน

5.ถ้าดูรายละเอียด ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนอะไรในโลกนี้ที่มีการออกแบบ ศึกษาในแม่ท้องที่มีขั้นตอนเต็มรูปแบบงานวิจัยคุณภาพ ที่มีการศึกษาตีพิมพ์และถือว่าปลอดภัยสำหรับให้แก่คนท้องคือ วัคซีนกลุ่ม mRNA สำหรับ ทั้ง ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า ให้ข้อมูลได้ว่า ซิโนแวค เป็นวัคซีนที่ไม่ใช้เชื้อมีชีวิต แบ่งตัวไม่ได้แล้ว วัคซีนที่ไม่ใช่เชื้อมีชีวิตเรามีการใช้ในคนท้องมานาน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ บาดทะยัก ส่วน แอสตร้าเซนเนก้า เป็น viral vector ใช้เชื้อไวรัส adeno มาดัดแปลงพันธุกรรมและทำให้อ่อนฤทธิ์มากสอดใส่สารพันธุกรรมที่สร้าง spike protein ของไวรัสโคโรนาเข้าไปแทนเพื่อให้มนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด เชื้อไม่สามารถแบ่งตัวได้ เพราะมีการ delete gene ที่เกี่ยวกับการแบ่งตัวออกไป

แต่ก็ยังเป็นวัคซีนกลุ่มเชื้อมีชีวิต ซึ่งตามปกติคนท้องจะไม่ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนเชื้ัอมีชีวิต แต่ตัวนี้เป็นข้อยกเว้น เพราะเป็นเชื้อมีชีวิตที่ไม่แบ่งตัว จึงมีความปลอดภัย องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดได้

แม้ไม่มีการศึกษา รองรับเช่นของ mRNA แต่ในยามที่มีการระบาดมาก และแม่ท้องมีความเสี่ยงสูง จึงควรแนะนำให้ฉีดวัคซีน ดีกว่าไปเสี่ยงติดเชื้อตามธรรมชาติ แต่การตัดสินใจจึงต้องให้ข้อมูลแม่ท้อง เพื่อให้ตัดสินใจเอง

6.เมื่อมีการระบาดมาก วัคซีนอะไรก็จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวจะเลือกใช้วัคซีนเชื้อไม่มีชีวิต และมีอาการข้างเคียงน้อยกว่า เช่น ซิโนแวค ก่อน แต่ถ้าเลือกไม่ได้ ก็สามารถใช้ แอสตร้าเซนเนก้า ได้ เพราะดีกว่าไปเสี่ยงเป็นโรคตามธรรมชาติ สำหรับแม่ให้นม สามารถให้วัคซีนได้เลย และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น จะผ่านจากแม่สู่ลูกทางน้ำนม ได้เช่นเดียวกับภูมิคุ้มกันอื่นๆ ที่แม่ส่งให้ลูก

7.เรื่อง การแพ้วัคซีน และ อาการข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน ประเด็นการแพ้ มี 2 แบบ แพ้ทันทีแบบรุนแรง ที่เรียกว่า anaphylaxis มักเกิดใน 30 นาทีแรก อันนี้แพทย์หรือผู้ฉีดวัคซีน จะสามารถให้การรักษาได้ทันที คือให้ Adrenalin ฉีดแก้ แม้จะฉีดวัคซีนในศูนย์การค้าก็ไม่ต้องกังวล มีบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมช่วยแก้ไข โอกาสเกิดน้อยกว่า 1 ต่อ แสน

กรณีแพ้ไม่รุนแรง เช่น มีผื่น ในระยะต่อมา รักษาได้โดยการใช้ยาแก้แพ้ สำหรับผู้มีอาการแพ้ กรณี อื่นๆ เช่น แพ้ยา แพ้ฝุ่น หรือ ภูมิแพ้ สามารถให้วัคซีนได้

8.มีแม่ท้อง จากประเทศลาว ถามเรื่อง ประเทศลาวตอนนี้ มี แอสตร้าเซนเนก้า กับ ซิโนฟาร์ม จะฉีดตัวใด เมื่อไร คำตอบเดียวกัน คือ ทั้งคู่สามารถใช้ได้ อาจพิจาณาเลือก ซิโนฟาร์ม ก่อนถ้าเลือกได้ ให้แม่พิจารณาข้อมูลชนิดของวัคซีนดังกล่าวข้างต้นประกอบ และไทยแนะนำฉีดไตรมาสที่สองและสาม

9.ภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อโควิด ไม่อยู่ยาว lifelong หลังติดเชื้อเกิน 3 เดือน ควรได้รับวัคซีนใดก็ได้ กระตุ้นอีกครั้ง ที่ภูมิคุ้มกันไม่อยู่ยาวเนื่องจากไวรัสมีระยะฟักตัวสั้น และพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ในคนตลอดเวลา ตอนนี้ติดเชื้อเยอะ มากกว่า 160 ล้านคน ยิ่งมีโอกาสกลายพันธุ์ ทำให้ต้องมีการกระตุ้นภูมิด้วยการฉีดวัคซีนซ้ำ เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

10.กำลังมีการพัฒนา วัคซีน second generation เพื่อรองรับการกลายพันธุ์ของไวรัส น่าจะออกมาได้ปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า

11.สรุป แม่ท้อง แม่ให้นม ควรได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากธรรมชาติ แม่ท้องมีโอกาส เกิดอาการรุนแรง และเสี่ยงเสียชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป จะเป็นวัคซีนใดให้พิจารณาจากข้อมูลเท่าที่มี ซึ่งยืนยันว่าทุกวัคซีนมีความปลอดภัยมีการใช้จริง ความเสี่ยงข้อแทรกซ้อนจากการให้วัคซีนในคนท้องไม่แตกต่างจากให้คนทั่วไปและทารกที่เกิดมาก็ไม่พบว่าผิดปกติ

โดยรวมสามารถสรุปได้ว่า คนท้อง ฉีดวัคซีนได้ โดยเฉพาะคนท้องในพื้นที่เสี่ยงมาก พื้นที่สีแดงเข้ม ควรได้รับวัคซีนโดยเร็ว