บช.น. เตือนม็อบ 7 สิงหา นัดชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เสี่ยงแพร่เชื้อ

เอาจริง! บช.น. เตือนม็อบ 7 สิงหา นัดชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้ความรุนแรง บังคับใช้กฎหมายทันที

อีก 2 วัน คือวันที่ 7 สิงหาคม 2564 จะมีการนัดชุมนุม ครั้งใหญ่ เพื่อเรียกร้องทางการเมือง

ล่าสุดวันนี้ 5 สิงหาคม 2564 ทาง บช.น. ได้เผยแพร่ประกาศ เตือนกลุ่มผู้ชุมนุม ข้อความระบุว่า จากกรณี นัดหมายชุมนุม

1. กลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth นัดหมาย เริ่มเวลา 13.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนไปพระบรมหาราชวัง

2. กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยนายธนเดช หรือ ม่อนศรีสงคราม นัดหมายยังไม่ทราบเวลา ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จัดกิจกรรมในลักษณะ CarMob 2 ล้อ เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล

ตามที่ได้มีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง การห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2564

ในข้อ 3 ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ในพื้นที่ควบคุมโควิด

ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ บช.น. เตือนว่าการชุมนุม ปราศรัยทางการเมือง จะเป็นความผิดฐาน ฝ่าฝืนตามประกาศฉบับที่ 9 คือ

1. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

2. พ.ร.บ.โรคติดต่อ

3. พ.ร.บ.จราจรทางบก

4. พ.ร.บ.ความสะอาด

5. พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

ส่วนการชุมนุม เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564

ที่หน้าหอศิลป์ แยกปทุมวัน ตำรวจ สามารถจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งขับรถยนต์เครื่องขยายเสียง และผู้จัดอุปกรณ์เวทีใช้ปราศรัย ได้จำนวน 5 ราย นำตัวไปดำเนินคดี ในข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน , ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และ จอดหรือขับขี่รถยนต์บนทางเท้า

ต่อมา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ทาง สน.ปทุมวัน ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ผัดฟ้องและ ฝากขังศาลแขวงปทุมวันแล้ว

ขณะนี้ทาง บช.น. ได้ดำเนินคดี กับกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งหมด 293 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน 97 คดี ส่งสำนวนให้อัยการ หรือสอบสวนดำเนินคดีแล้ว 196 คดี

โดยทาง บช.น. ยืนยัน ว่าหากกลุ่มผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง พกพาอาวุธ ดื้อดึงไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ที่ตำรวจปฎิบัติตามหน้าที่ ก็จำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้ลุกลามบานปลาย และบังคับใช้กฎหมายในทุกข้อหา อย่างแน่นอน