ลองทำตามนี้! กายภาพบำบัดระบบหายใจ ในเคสผู้ป่วยโควิดเริ่มหายใจยาก

นักวิชาการกายภาพบำบัด แนะนำผู้ป่วยโควิด #กายภาพบำบัดระบบหายใจ ระหว่างรอเตียงรักษา ในเคสผู้ป่วยเริ่มหายใจยาก

สถานการณ์โควิดตอนนี้เข้าขั้นวิกฤติ! มีผู้ป่วยติดอยู่บ้านรอเตียงรักษา เนื่องจากเตียงมีไม่พอกับคนไข้ที่ล้น และหลายครั้งที่เรามักจะเห็นข่าว ป่วยโควิดรอเตียงจน…ตายคาบ้าน น้อยคนจะรู้ว่าระหว่างรอเตียงควรต้องรักษาอาการเองขั้นต้นยังไงหรือดูแลตัวเองยังไง มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Chatchai Momo Phimphasak เป็นนักวิชาการและนักกายภาพบำบัด ได้ออกมาโพสต์แนะนำ เมื่อป่วยโควิดติดอยู่บ้านทำยังไงดี กรณีผู้ป่วยที่เริ่มหายใจลำบาก นั่นอาจหมายถึงเชื้อลงปอด ซึ่งผู้ป่วยก็ต้องพยายามประคับประคองอาการให้ยังหายใจรับออกซิเจนเข้าสู่เลือดได้อย่างเพียงพอและลดการเคลื่อนไหวร่างกายที่จะทำให้เหนื่อยมากขึ้น

โดยผู้โพสต์ระบุว่า

“ผมฟังข่าวผู้ป่วยรอเตียงรักษาในหลายพื้นที่แล้วจุกในอก บางรายเสียชีวิตก่อนได้รักษา

พยายามคิดว่า ในฐานะ นักวิชาการและนักกายภาพบำบัด ความรู้และประสบการณ์ที่พอมีบ้างจะพอช่วยอะไรได้ในยามนี้ หากท่านติดโควิด แล้วไม่มีอาการอะไร เป็นเหมือนไข้ (fever) เหมือนหวัดธรรมดา (common cold) ก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ครับ แต่จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่เชื้อลงปอดแล้วทำให้เกิดปอดอักเสบ (pneumonia) หรือที่เรามักเรียกว่าปอดบวม อันนี้เริ่มน่าเป็นห่วง เพราะจะรบกวนการแลกเปลี่ยนก๊าซซึ่งเป็นหน้าที่หลักของปอด หากเป็นมากระดับหนึ่งจะทำให้ระดับออกซิเจนเลือดลดลง และจะลดลงมากยิ่งขึ้นหากการติดเชื้อลุกลาม ภาวะปอดบวมนี้จะทำให้ปอดขยายตัวยาก คือ หายใจเข้าได้น้อยลงนั่นเอง เป็นมากรุนแรงขึ้น ยิ่งหายใจเข้าได้น้อย ระดับออกซิเจนในเลือดของท่านจะยิ่งต่ำลง แต่อวัยวะต่างๆในร่างกายของท่านยังต้องการพลังงานซึ่งต้องอาศัยออกซิเจนในปริมาณเท่าเดิมหรือมากขึ้นด้วยซ้ำ เมื่อปอดทำงานแย่ลง มันจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ดังนั้นหน้าที่ของท่านที่ต้องปฏิบัติตัว รอหมอ รอเตียง คือพยายามประคับประคองการทำงานของปอดให้สามารถนำออกซิเจนเข้าสู่เลือดในระดับที่เพียงพอ และลดระดับการใช้พลังงานของร่างกายลง โดยให้ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

ส่วนที่ 1 ลดระดับการใช้พลังงานของร่างกายลง

1.1 เมื่อเราติดเชื้อ เราจะมีไข้ ไข้จะสูงจะต่ำอยู่ที่การตอบสนองของร่างกายเรา หากมีไข้ต้องลดไข้ก่อน!!! เพราะยิ่งไข้สูงระดับการใช้พลังงานของร่างกายจะสูงขึ้น ยิ่งต้องการออกซิเจนมากขึ้นในขณะที่ปอดเรากำลังแย่เราจะไม่ไหวแล้วจะผ่านมันไปไม่ได้

วิธีการลดอุณหภูมิร่างกายทำได้โดย

* ทานยาลดไข้ ตามขนาดที่เหมาะสมกับตนเอง

* เช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้องบ่อยๆ ทำวนไปจนไข้ลด เช็ดสวนทางกับแนวขน เพราะเราต้องการเปิดรูขุมขนให้ระบายความร้อน ผ้าขนหนูควรซับน้ำได้ดี ไม่ต้องหมาดมาก ท่านสามารถวางผ้าชุบน้ำโปะไว้บริเวณที่ร้อนมากๆ เช่น หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ แผ่นหลัง ขาหนีบ วางโปะไว้จนบริเวณนั้นอุณหภูมิลดลง หรือผ้าอุ่นจะต้องเปลี่ยนไปชุบผ้าใหม่

* ดื่มน้ำให้มากขึ้น (หากท่านไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวจนต้องจำกัดปริมาณน้ำ เช่น ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจบางประเภท ซึ่งผู้ป่วยมักจะทราบอยู่แล้ว) เพื่อคงระดับสมดุลน้ำในร่างกาย ถ้าน้ำมันเกินเราก็จะขับออกมาทางปัสสาวะเอง

1.2 ลดการทำกิจกรรมลง ทำแค่กิจวัตรประจำวันที่จำเป็นในช่วงมีไข้เท่านั้น เพื่อลดระดับความต้องการพลังงานของร่างกายให้มากที่สุด แต่ไม่ใช่นอนเฉยๆทั้งวันนะครับ กิจกรรมใดที่ทำให้หัวใจท่านเต้นเร็วขึ้นมากแสดงว่าใช้พลังงานมากขึ้น จับชีพจรที่เส้นเลือดบริเวณข้อมือจะพอทราบว่าเต้นกี่ครั้งต่อนาที ถ้าช่วงที่ไข้ขึ้น หัวใจท่านอาจจะเต้นเร็วขึ้นเช่นกัน

ส่วนที่ 2 ประคับประคองการทำงานของปอดให้สามารถนำออกซิเจนเข้าสู่เลือดในระดับที่เพียงพอ ด้วยวิธีดังนี้ ส่วนนี้สำคัญมากครับ ท่านที่มีสติดี พอมีแรงฝึก ขอให้ทำตามข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 ครับ หากไม่มีแรงมากพอที่จะฝึกหายใจ จัดท่าทางตามข้อ 2.3 นะครับ

2.1 ฝึกหายใจลึกให้เต็มปอด ปอดจะได้ขยาย

ถุงลมของท่านบางถุงลมจะขยายง่ายลมเข้าไปเติมได้เร็ว ในขณะที่บางถุงลม ลมจะไหลเข้าช้า ดังนั้นเพื่อให้ถุงลมของท่านขยายตัวได้มากที่สุดขอให้ทำดังนี้ ปอดท่านจะได้ไม่แฟบ เมื่อมีลมเข้าได้มาก นั่นคือเราพาออกซิเจนเข้าไปได้มากเช่นกัน

* พยายามหายใจเข้าช้าๆลึกๆ ช้าๆลึกๆ จำไว้ว่า เน้นเข้าช้าๆลึกๆ นะครับ

* เน้นให้หายใจเข้าท้องป่อง ตามด้วยชายโครงด้านล่างกางออก แล้วจึงตามด้วยการยกอก

* หากรู้สึกว่าหายใจเข้าเต็มปอดแล้วอย่าเพิ่งหายใจออก

* ให้พยายามดึงลมเข้าต่อเนื่องอีกสัก 3- 5 วินาที ถ้าทำไหว ถ้าไม่ไหวเอาเท่าที่ทำได้นะครับ

* แล้วจึงหายใจออกสบายๆ

ฝึกหายใจลึก 5-6 ครั้งต่อรอบ อย่างน้อย 2 รอบทุกๆชั่วโมงที่ท่านตื่น ทำได้ทุกท่า ไม่ว่าท่านจะยืน นั่ง หรือ นอน

2.2 หายใจออกแบบห่อริมฝีปาก หรือ เป่าลมผ่านหลอดดูดขนาดมาตรฐาน ช้าๆ การหายใจออกแบบมีแรงต้านในระดับที่เหมาะสม (ไม่มากเกินจนต้องพยายามเค้นลมหายใจออก) จะช่วยให้เกิดแรงดันบวกกลับเข้าไปในปอดของท่านถุงลมจะเปิดเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ช่วยส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีขึ้น ทำแบบนี้นะครับ

* หายใจเข้าทางจมูกลึกขึ้นจากการหายใจปกติแต่ไม่ต้องลึกจนเต็มปอด

* หายใจออกผ่านปากโดยห่อริมฝีปากเป็นรู หรือ ทำปากจู๋ ช้าๆยาวๆ แต่ไม่ต้องเค้นนะครับ

หรือท่านสามารถใช้หลอดดูดแทนการห่อริมฝีปากได้ก็จะได้ช่องเล็กๆเช่นกัน เช่น หากท่านหายใจเข้าใช้เวลา 2 วินาที เมื่อท่านหายใจออกผ่านปากจู๋ ควรหายใจออกช้าๆยาวๆ ให้ได้อย่างน้อย 4 วินาที ฝึกหายใจแบบปากจู๋นี้ ทำได้บ่อยๆเลยนะครับ นึกได้ตอนไหนทำตอนนั้น 5-6 ครั้งต่อรอบ พักระหว่างรอบสัก 1นาที ก็ทำอีกได้ครับ หรือจะทำร่วมกับการฝึกหายใจลึกก็ได้ครับ

2.3 จัดท่าทางให้เหมาะสม เพื่อให้หายใจได้สะดวกและส่งเสริมให้ปอดในบางส่วนมีลมถ่างไว้มากขึ้น ปอดจะได้แลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีขึ้น จะช่วยรักษาระดับออกซิเจนในเลือดให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้

*ในช่วงที่ตื่นช่วงกลางวัน เน้นการนั่งเก้าอี้ ให้ตัวตั้งอาจมีพนักพิงหลังได้ หากทรงตัวไม่ไหวก็ปรับเอนได้เช่นกัน

*ในช่วงตื่นนอนหากต้องการพักผ่อน ขอให้ท่านเลือกท่านอนได้ดังต่อไปนี้

* นอนคว่ำ (มีรูปประกอบ)

* นอนตะแคงกึ่งคว่ำทับซ้าย

* นอนตะแคงกึ่งคว่ำทับขวา (มีรูปประกอบ)

* ในกรณี ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง ให้นอนตะแคงทับข้างที่ไม่อ่อนแรงนะครับ ทำสลับเปลี่ยนท่าได้ ทุกๆ 30 นาที หรือ 1 ชม. ในช่วงที่ตื่น หากเป็นช่วงนอนกลางคืนก็สามารถใช้ท่าเหล่านี้ได้ครับ

สุดท้ายผู้โพสต์ยังให้กำลังใจด้วยว่า “ขอให้ทุกท่านได้รับการรักษาใน รพ. เร็ววัน ขอให้โควิดหายไปจากโลกเราเร็วๆ ขอวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาช่วยเราชาวไทยด้วยครับ ขอเป็นอีกแรงหนึ่งเล็กๆ ช่วยเหลือสังคมครับ ขอบพระคุณคุณปู่ที่ตื่นมาเป็นนายแบบให้นะครับ”

จันเองนั่งอ่านไปก็ลองทำตามไปด้วย รู้สึกว่าหายใจอิ่มขึ้นนะคะ ถือว่าเป็นความรู้รอบตัวเกี่ยวกับร่างกายของเราที่สามารถทำได้เอง ฝึกได้เอง ใครที่ป่วยโควิดติดยู่บ้าน หรือคนไม่ปวยก็ลองทำได้ค่ะ ฝึกระบบหายใจของเราให้รับออกซิเจนได้ดีขึ้น สู้ๆนะคะทุกคน