วิกฤตเตียงไม่พอ กลับมาอีกครั้ง หมอ แนะ ป่วยโควิด ติดอยู่บ้าน มีวิธีดูแลตัวเอง ?

วิกฤตเตียงไม่พอ เมื่อติดโควิด เเต่ไม่มีเตียงให้ไปรักษาที่ รพ. รองอธิบดีกรมการแพทย์ แนะ ป่วยโควิด ติดอยู่บ้าน มีวิธีดูแลตัวเอง อย่างไร?

วิกฤติเตียงไม่พอ รองรับผู้ป่วย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลับมาอีกครั้ง แล้วผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังรอเตียงควรดูแลตัวเองอย่างไรในระหว่างรอเตียง

โดยในวันนี้ (24 มิ.ย.64) อีจันได้มีโอกาสขอความรู้จาก นายเเพทย์ ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์

โดยคุณหมอณัฐพงศ์ กล่าวว่า ตอนนี้ใน กทม.และปริมณฑล เตียงสำหรับผู้ป่วยระดับ 3 (สีแดง ผู้ป่วย ICU) เหลือน้อย

ซึ่งในระหว่างนี้ หากทราบว่าตัวเองป่วยโควิด-19 ระหว่างรอเตียง เราสามารถดูแลตัวเองอยู่บ้านได้

1.มีเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ติดบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแบบดิจิตอล หรือ แบบปรอท

ถ้ามีไข้ 37.4 หรือหากมีไข้สูงมาก 38.5 องศาเซลเซียส อย่างนี้ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะหากมีไข้สูงแสดงว่าอาการอาจจะเริ่มมีปฏิกิริยาข้างใน และอาจรุนแรงขึ้นได้

2.สังเกตการหายใจ หากเริ่มหายใจเหนื่อย หอบ อาจจะเริ่มมีอาการปวดบวม คือเชื้อเริ่มลงปอด

แล้วจะสังเกตอย่างไรว่า เหนื่อยหรือไม่เหนื่อย ? วิธีการสังเกตง่ายๆ คือ

2.1 ปกติคนเราเวลาหายใจต่อ 1 นาที ไม่ควรเกิน 20 ครั้ง (1 ครั้ง เท่ากับ หายใจเข้า-ออก) หากมากกว่านี้แสดงว่าหายใจถี่ ร่างกายต้องการออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงเยอะ

2.2 อยู่เฉยๆ แล้วเหนื่อย หายใจเร็ว (แต่บางครั้ง แค่มีไข้สูงๆ ไม่ถึงกับปอดบวม อาจจะเหนื่อยได้ หรือไม่มีไข้แต่เหนื่อยหอบอย่างนี้ก็ผิดปกติ)

2.3 คนปกติเดินไปมาในบ้าน (ไม่ใช่การออกกำลังกาย) จะไม่เหนื่อย

3.การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม

3.1 หากอยู่คนเดียว ต้องมีคนที่ติดต่อ ภายนอกบ้านได้

3.2 หากอยู่บ้านกันหลายคน ต้อง กินอาหาร – ของใช้ส่วนตัว – ห้องนอน – ห้องน้ำ แยกกัน ไม่ปะปนกับคนในครอบครัว (หรือหากมีห้องน้ำเดียว จะต้องมีการทำความสะอาดอย่างเหมาะสมด้วย เพราะอาจมีสารคัดหลั่งติดได้)

งดออกจากบ้าน แต่ที่สำคัญต้องมีเครื่องมือสื่อสาร ติดต่อ โรงพยาบาล หรือคนที่ขอความช่วยเหลือได้

คุณหมอณัฐพงศ์ กล่าวเสริม หากอาการไม่แย่ลง ท่านสามารถปฏิบัติตัวตามที่แนะนำระหว่างรอได้เตียง ซึ่งหลักๆ คือ การเว้นระยะห่างภายในบ้าน ส่วนผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ว่าใครก็จะต้องมี พาร์ทเนอร์ หรือผู้ที่จะสามารถติดต่อได้ สอบถามอาการได้ ซึ่งโดยปกติ 1668 จะโทรเยี่ยมอาการ วันละ 1 ครั้ง

ส่วนการทานยา ก็ทานตามอาการ หากมีไข้ ก็ทานพาราเซตามอล ยาแก้ไอ

แต่ยาแก้อักเสบ ปวดข้อ รวมทั้ง แอสไพริน ไม่แนะนำให้ทาน

ยาโรคประจำตัว ก็ทานได้ตามปกติ แต่การที่มีโรคประจำตัว อาจะทำให้อาการของโควิด-19 แย่ลง เช่น โรคหอบ ดังนั้นการรักษาตัวเองอยู่บ้านอาจทำได้ไม่ดีพอ จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล แต่เมื่อโรงพยาบาลเตียงไม่พอรองรับคนไข้ ระหว่างจึงต้องใช้วิธีสังเกตอาการร่วมกับการติดตามอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล