สธ. ประเมินสถานการณ์โควิด พบ ดีมาก เตรียมเดินหน้า ปรับเป็นโรคประจำถิ่น

สธ. ร่วมมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินผล รับมือ โควิด ตามหลักของ องค์การอนามัยโลก พบอยู่ในระดับ ดีมาก

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง ประธานคณะกรรมการ MIU และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีทิศทางลดความรุนแรงลง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงให้มีการวางแผน เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” อย่างดีสุด โดยเน้นการนำข้อมูลด้านระบาดวิทยาและวิชาการ การระดมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและนอกกระทรวงสาธารณสุข การติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนทั้งในระดับชาติและพื้นที่ มาใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

ล่าสุด ทีมวิจัยกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประเมินผลการรับมือสถานการณ์โควิด 19 โดยลงพื้นที่จริงทั้งในระดับประเทศ และในระดับพื้นที่ จำนวน 8 พื้นที่หลัก และ 44 พื้นที่ย่อย เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย การเตรียมความพร้อมและมาตรการสำคัญในการรับมือสถานการณ์ในระยะถัดไป จนเข้าสู่การยุติการระบาด โดยประเมินตามสมรรถนะหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) และถอดบทเรียน ทบทวนหลังปฎิบัติงาน พบว่า ประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุข มีสมรรถนะและการรับมือสถานการณ์อยู่ในระดับดีมาก ขณะนี้ สถานการณ์ส่วนใหญ่ทั่วโลกและประเทศไทย อยู่ในระยะการปรับตัวเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่ เป็น “โรคประจำถิ่น” จากปัจจัยของเชื้อที่ลดความรุนแรงลงมาก

โดยขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระยะทรงตัวและชะลอการเพิ่มจำนวน คาดว่าจะดีขึ้นตามลำดับและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในต้นเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญในการยุติการระบาดใหญ่ คือ ระดับภูมิคุ้มกันต่อโควิด 19 ของประชาชน ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือประชาชน เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ข้อมูลกรมควบคุมโรค พบว่า การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะลดโอกาสเสียชีวิตลงได้ถึง 41 เท่า รวมถึงยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด เพื่อลดและชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ด้วย เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่

คลิปอีจันแนะนำ
ช่างโกนหัว เป็นเพื่อนลูกค้าสาวป่วยมะเร็ง