สธ. ลงนาม จัดซื้อ ยาโมลนูพิราเวียร์ บรรเทาอาการโควิด 50,000 คอร์ส

สธ. ร่วมกับ บริษัทเอกชน ลงนาม จัดซื้อ ยาโมลนูพิราเวียร์ จากสหรัฐฯ บรรเทาอาการโควิด 50,000 คอร์ส

ความหวังของคนไทย ที่จะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการ สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ใกล้ความจริงเข้ามาเรื่อย ๆ โดยในวันนี้ (25 พ.ย. 64) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีลงนามสัญญาการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย ระหว่างรัฐบาลไทย โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ดร.แมรี เสรฐภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ทั้งในแง่การป้องกันการติดเชื้อ, เสริมสร้างภูมิต้านทานด้วยการให้วัคซีน, และการรักษาผู้ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ตามความรุนแรงของโรค โดยใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรในผู้ที่ไม่มีอาการ และใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์ในผู้ที่มีอาการแต่ไม่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ส่วนผู้ติดเชื้อที่มีอาการและมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ดังนั้น ยารักษาโควิด 19 จึงมีความสำคัญและจำเป็น นโยบายการจัดหาจึงเน้นการเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอ มาสนับสนุนการพิจารณาจัดหายาที่เหมาะสมมาใช้ ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์ สามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตลงได้อย่างดี

ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์, ยาเรมเดซิเวียร์ ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ที่จะจัดหาเข้ามานั้น มีผลการศึกษาระยะที่ 3 สรุปได้ว่า ลดความเสี่ยงเสียชีวิตหรือรักษาตัวในโรงพยาบาล ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคน้อยถึงปานกลาง ได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด 19 ในประเทศไทยเข้าถึงยาชนิดใหม่ กระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องจัดหาและจัดซื้อยาดังกล่าว โดยกรมการแพทย์รับผิดชอบสัญญาการจัดหาและจัดซื้อ จำนวน 5 หมื่นคอร์สการรักษา

ด้านอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แผนการจัดหายา ดำเนินการโดยประมาณการผู้ติดเชื้อประมาณ 1 หมื่นรายต่อวัน คาดว่ามีผู้ติดเชื้อที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยา 1 พันรายต่อวัน จึงพิจารณาจัดหายาดังกล่าว 5 หมื่นคอร์สการรักษา ทั้งนี้การร่างสัญญามีเงื่อนไขสำคัญ ได้แก่

1.ได้รับอนุมัติกรอบวงเงินจำนวน 500 ล้านบาทจากคณะรัฐมนตรี

2.การนำยาเข้ามาในประเทศไทย ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.ไทยแล้วเท่านั้น

3.มีการเจรจาต่อรองราคายาโดยให้รวมภาษีและค่าขนส่ง

4.ต้องดำเนินการสัญญา ภายใต้มาตรฐานสัญญา (ภาษาอังกฤษ) ที่บริษัท เมอร์ค แอนด์ คัมปานี อินคอร์ปอเรท ได้ทำสัญญากับหลายประเทศ โดยได้ส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้ว

5.จัดซื้อยาตามเงื่อนไขการซื้อยา ภายใต้เงื่อนไขการรักษาโรคโควิด 19 ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐกำหนด

คลิปอีจันแนะนำ
ค่ำคืน ทรหด! ช่วยชาวบ้าน หนีตายน้ำป่า @อ.แก่งกระจาน