สธ. แจงกรณี วัคซีนโควิด เหลือ เป็นไปตามหลักสากล ชี้ คนฉีดวัคซีน น้อยลง

โฆษก สธ. ชี้แจงกรณี วัคซีนโควิด เหลือ เพราะต้องสั่งจองให้พอกับความต้องการใช้สูงสุด เป็นไปตามหลักสากล แต่ คนฉีดวัคซีน น้อยลง เพราะการระบาดดีขึ้น ต้องเร่งให้มารับเข็มกระตุ้นเพิ่ม

วันนี้ (23 มิ.ย. 65) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตเรื่อง “วัคซีนเต็มแขน” แต่เป็นวัคซีนโควิด 19 เต็มทุกสถานีอนามัย บางส่วนกำลังจะหมดอายุ เพราะสั่งเข้าแบบไม่มีแผน และใช้งานไม่ทัน ว่า วัคซีนเป็นเรื่องของความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศที่จะมีวัคซีนเหลือ ไม่ใช่วัคซีนขาด ส่วนเรื่องของการสั่งจองและซื้อวัคซีนโควิด 19 เข้ามาเพื่อปกป้องประชากรทั่วประเทศและเรื่องหมดอายุนั้น ขอชี้แจง ว่า วัคซีนโควิด 19 แต่ละชนิดจะต้องมีการสั่งจองล่วงหน้าเป็นปีหรือหลายเดือน เนื่องจากกระบวนการผลิตวัคซีนมีความซับซ้อน และใช้เวลานาน เมื่อผลิตออกมาแล้วจะขอขึ้นทะเบียน อย.เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งกำหนดวันหมดอายุ 6 เดือนนับจากวันที่ผลิต หากภายหลังตรวจสอบคุณภาพและประเมินผลแล้วสามารถที่จะนำมาฉีดได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล อย.ก็จะอนุมัติให้ขยายอายุวัคซีนเพื่อให้บริการประชาชนได้มากที่สุด

เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องพื้นฐานความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ การจองวัคซีนต้องให้มีจำนวนเพียงพอต่อการป้องกันโรคและรับมือการระบาด ซึ่งในต่างประเทศก็มีการจองวัคซีนไว้ตามความต้องการสูงสุด สำหรับประชาชนทุกคน ซึ่งต้องมีเข็มกระตุ้นด้วย และมีวัคซีนหมดอายุ เช่น ญี่ปุ่น มีข่าวบริจาคและทำลายวัคซีนโควิดมากกว่า 100 ล้านโดส ในหลายเดือนที่ผ่านมา

การจัดหาวัคซีนไว้เหลือ เป็นแนวทางการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล และหลักความมั่นคงทางด้านสุขภาพ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนเหลืออยู่ที่คลังส่วนกลาง 29 ล้านโดส และคลังส่วนภูมิภาค 13 ล้านโดส การดำเนินการตามนโยบาย คือ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของจึงเป็นที่มาของการเร่งรัดประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้ารับเข็มกระตุ้นโดย ๆ จัดส่งวัคซีนไปไว้ที่ รพ.สต. เพื่อให้บริการประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด