“หมอยง” ชี้ ใช้ วัคซีนลูกผสม อาจ ป้องกัน “โอไมครอน” ได้

หมอยง ระบุ โอไมครอน มีการ กลายพันธุ์ หลายตำแหน่ง ชี้ ใช้ วัคซีนลูกผสม อาจเป็น ผลดี ต่อ ไวรัสกลายพันธุ์

หลังจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ โอไมครอน ในหลายๆประเทศทั่วโลก ก็มีความพยายามในการศึกษาไวรัสตัวนี้อยู่ทุกๆวัน โดยช่วงเช้าของวันนี้ (30 พ.ย. 64) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยมีใจความว่า ไวรัส โอไมครอน นั้น กลายพันธุ์ไปถึง 50 ตำแหน่ง และบริเวณหนามแหลม มีการเปลี่ยนแปลงไปมากถึง 30 ตำแหน่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในกลุ่ม RNA ไวรัส สิ่งสำคัญคือว่า ตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ทำหน้าที่อะไร มีความสำคัญแค่ไหน ซึ่งจะสำคัญมากกว่าเรื่องของจำนวนที่เปลี่ยนแปลง

ซึ่งไวรัส สายพันธุ์นี้ มีพันธุกรรมทั้งสิ้น เกือบ 30,000 นิวคลีโอไทด์ ถ้าเปลี่ยนแปลงไป 50 หรือ 100 ต่อ 30000 ก็มีความเป็นไปได้ เพราะเชื้อโรคแพร่กระจายมานานกว่า 2 ปี ส่วนของหนามแหลมสไปท์ จะมีประมาณ 4,000 นิวคลีโอไทด์ และเป็นกรดอะมิโนประมาณ 1,270 กรดอะมิโน การเปลี่ยนแปลงไป 30 ใน 1270 นั้น อาจจะไม่ใช่จำนวนที่เยอะ แต่สิ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในตำแหน่งใดมากกว่า การเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนที่เกิดขึ้น แต่รูปร่างโครงสร้างของหนามแหลมสไปท์ ก็ยังคงรูปร่างเดิม เพียงแค่เกิดความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในหนามแหลมสไปท์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นในส่วนนี้ อาจจะลดลงไปบ้าง เช่น หากเรามีภูมิต้านทานสูง จะป้องกันได้ 90% การป้องกันต่อสายพันธุ์ใหม่อาจจะลดลง เหลือ 80% ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องมีภูมิต้านทานสูงไว้ก่อน หรือตัววัคซีนเอง ต้องเปลี่ยนสายพันธุ์ไปเลยซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา

วัคซีนมีจุดมุ่งหมายในการสร้างภูมิต้านทาน การติดเชื้อ สร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ถ้าร่วมกับ ภูมิต้านทานจากวัคซีน จะมีระดับภูมิต้านทานที่สูงมาก ที่เรียกว่าเป็นภูมิต้านทานแบบลูกผสม hybrid immunity และสามารถป้องกันได้ดีกว่า ขณะเดียวกันการให้วัคซีนเชื้อตาย เป็นการจำลองการติดเชื้อ มีภูมิต้านทานต่อทั้งตัวไวรัส รวมถึงหนามแหลมด้วย และเมื่อร่วมให้กับวัคซีนอื่น ที่เป็นหนามแหลมสไปรท์ ทำให้อนุมานได้ว่า ทำไมภูมิต้านทานจึงสูงขึ้นมาก และน่าจะเป็นแบบภูมิต้านทานลูกผสม hybrid immunity ทั้งนี้ในอนาคตเชื่อว่า การศึกษาภูมิต้านทานแบบลูกผสม น่าจะช่วยในการสนับสนุน ป้องกันการกลายพันธุ์ของไวรัส เพราะระบบภูมิต้านทานในการต่อสู้กับไวรัส ไม่มีเฉพาะแค่หนามแหลมสไปท์อย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นการใช้วัคซีนแบบลูกผสม อาจจะดีต่อไวรัสกลายพันธุ์ก็ได้

คลิปอีจันแนะนำ
พระมหาสมปอง ยืนยัน พระมหาไพรวัลย์ สึกแน่นอน