หมอยง ตอบข้อสงสัย วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก เผย เด็กเป็น พาหะ ได้ง่ายกว่า

หมอยง โพสต์เฟซบุ๊ก เผย ข้อสงสัย เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระบุ เด็กเป็น พาหะ ได้ง่ายกว่า ยัน ไม่บังคับฉีด

วันนี้ (1 ก.พ. 65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยมีใจความว่า ในกรณีของเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีอาการน้อยมาก และไม่รุนแรงเท่าในรายของผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ยกเว้นเด็กที่มีโรคอื่นร่วมด้วย และภูมิต้านทานต่ำ เมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง เด็กเมื่อติดเชื้อไม่รุนแรง จะนำเชื้อไปสู่บุคคลในครอบครัว ทำให้เกิดการระบาดได้ ซึ่งเด็กควรได้รับเป็นกลุ่มสุดท้ายของครอบครัว ทุกคนในบ้านต้องได้รับวัคซีนให้ครบก่อน รวมถึงเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย จึงค่อยให้ความสำคัญมาที่เด็ก เมื่อมีวัคซีนสำหรับเด็กให้ใช้แล้ว วัคซีนใช้ในเด็ก ขณะนี้ทั่วโลกมีใช้อยู่ 2 ชนิดคือ mRNA (Pfizer) และเชื้อตาย (Sinovac, Sinopharm) สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ อ.ย.ได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้เฉพาะ Pfizer ในเด็กตั้งแต่ 5 ขวบ ขึ้นไป

ส่วนเชื้อตายกำลังรอขึ้นทะเบียนอยู่ ไม่ทราบว่าจะได้เมื่อไร แต่เชื่อว่าไม่นาน เพราะขณะนี้มีการฉีดให้ในเด็กหลายร้อยล้านโดส ให้ในเด็กตั้งแต่ 3 ขวบปีขึ้นไป ในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มาเลเซีย อินโดนีเซีย เขมร etc) ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา

โดยการ ฉีดวัคซีนในเด็ก ระยะห่างของเข็ม 1 และ 2 ที่เหมาะสำหรับคนไทยคือ 8 สัปดาห์ ซึ่งภูมิต้านจะสูงกว่า แต่สามารถยืดหยุ่นได้ ถ้าติดธุระหรือไม่พร้อม ส่วนการ ฉีดสูตรไขว้ ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลในเด็ก และวัคซีนของไทยสำหรับเด็ก ตอนนี้มีเพียงชนิดเดียว หากอนาคตมีข้อมูลเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ อาจมีความเป็นไปได้ที่จะฉีดไขว้

สำหรับการกระตุ้นเข็ม 3 ควรกระตุ้น ที่ 6 เดือน ยกเว้นว่า ในอนาคตมีวัคซีนเชื้อตาย ฉีด 2 เข็มแล้ว เข็ม 3 ก็สามารถกระตุ้นด้วย mRNA ได้ หลัง 1-3 เดือน ภูมิต้านทานจะกระตุ้นได้สูงมาก (ข้อมูลในผู้ใหญ่) ดังนั้นการฉีดวัคซีน จะไม่มีการบังคับ เป็นการฉีดด้วยความสมัครใจ การตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้ปกครองนะคะ

คลิปอีจันแนะนำ
หนูน้อยติดโควิดร้องไห้ ขอโทษพ่อ