หมอยง ตอบสงสัย พลาสมา ช่วยผู้ป่วยโควิดได้หรือไม่?

พลาสมา ช่วยผู้ป่วยโควิดได้หรือไม่? หมอยง ให้คำตอบแล้ว

26 เม.ย. 64 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ หมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการใช้พลาสมา ว่า

ขณะนี้ได้มีการนำ พลาสมา จากผู้ที่หายป่วยมาใช้กับผู้ป่วย โควิด ในการระบาด และรอบใหม่มากกว่า 120 คนจนพลาสมาที่มีอยู่ใกล้จะหมดลง จึงอยากจะเชิญชวนผู้ที่หายแล้วพร้อมที่จะมาบริจาคได้ โดยเฉพาะผู้ชาย มีหลายท่านเข้าใจผิดทำให้มีคนเขียนมาถามมากมาย

ถามว่า… การให้พลาสมาผู้ที่หายป่วยแล้ว ไม่เกิดประโยชน์อย่างใดไม่ใช่หรือ มีการศึกษาวิจัยแล้ว

ขอตอบว่าใช่ มีการศึกษาวิจัยแล้ว ที่เป็นการศึกษาวิจัยที่ดี พิมพ์ในวารสาร NEJM ชั้นนำของโลก ว่าการให้พลาสมา ในผู้ป่วยที่เป็นรุนแรง ให้แล้วไม่แตกต่างกันกับการไม่ได้ให้ ถ้าผู้ป่วยรุนแรงถึงกับใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรเลยจะให้พลาสมา

ผู้เขียนนำผลงานนี้มาเผยแพร่ในสื่อสังคม ทำให้หลายคนเข้าใจผิด แต่ไม่ได้อ่านต่อไปว่า มีการศึกษาในวารสารเดียวกัน การให้พลาสมาในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และ ให้เร็วตั้งแต่เริ่มมีปอดบวม พบว่า สามารถป้องกันการดำเนินโรคไม่ให้เลวลง ทำให้ผู้ป่วยลดการใส่ท่อช่วยหายใจ และลดอัตราการตายได้

ต่อมามีการศึกษาอีก ในวารสารเดียวกันที่มีชื่อ พบว่า พลาสมา ที่ใช้จะต้องมีระดับภูมิต้านทานสูง จึงจะได้ประโยชน์โดยเฉพาะภูมิต้านทาน 1:320 ขึ้นไป

ดังนั้น ในการเก็บพลาสมาของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เราจึงเลือกเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานสูงตามเกณฑ์ดังกล่าวเท่านั้น เพื่อให้ผู้ใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

ต่อมาก็มีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมในบ้านเราอีก ว่าการให้พลาสมาจะทำให้ไวรัสกลายพันธุ์

อยากขอชี้แจงว่า การฉีดวัคซีน การให้พลาสมา ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น มีส่วนในการกดดันไวรัสให้ไวรัสกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็น ภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีน หรือภูมิต้านทานที่อยู่ในพลาสมา ไวรัสก็จะปรับตัวหลบหลีกภูมิต้านทานนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ

จึงอยากจะเรียนชี้แจงว่าขอให้สบายใจ ในการให้ พลาสมา เป็นการให้ในโรงพยาบาล หรือหอผู้ป่วย มีการดูแลการแพร่กระจายของโรค ไม่ให้ไปติดผู้อื่นอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับการป้องกันเชื้อดื้อยา

ขณะที่ผู้ป่วยรักษาอยู่จะมีทั้งยา และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะทำให้ไวรัสหลบหลีกได้ทั้งนั้น แต่เมื่อผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ถึงแม้จะมีไวรัสกลายพันธุ์ ก็เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ก็จะเกิดในผู้ป่วยคนนั้น จนกว่าผู้ป่วยนั้นจะหาย ไวรัสหมดไปแล้ว จนกลับบ้าน หรือเสียชีวิต ไวรัสจะไม่มีโอกาสที่แพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้เลย การระบาดของสายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ในผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาล จึงอยากให้สบายใจได้

ความรู้ที่เกิดใหม่เป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา การติดตามข้อมูลที่ถูกต้อง และจะต้องคิดวิเคราะห์ จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก

ดังนั้นในขณะนี้ ในโครงการบริจาคพลาสมา เราจะมีการตรวจระดับภูมิต้านทาน ของผู้ที่จะมาบริจาค เราจะรับบริจาคเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานสูงเท่านั้น และการนำไปใช้เราได้มีคำแนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดบวม อย่างน้อย 2 จุดขึ้นไป และหรือเริ่มมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลงมาอยู่ที่ 94 เปอร์เซ็นต์หรือต่ำกว่า เราจะไม่รอ จนผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวิกฤตเช่นเกิดภาวะหายใจล้มเหลวแล้ว จะทำให้การรักษาไม่ได้ผล

จากข้อมูลการรักษาขณะนี้มากกว่า 120 ราย ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามีอาการเป็นที่น่าพอใจ กำลังรอวิเคราะห์ผลทั้งหมด และความประสงค์ของแพทย์ผู้รักษา ก็อยากจะได้พาสมาดังกล่าว เพราะซึ่งเปรียบเทียบกับยาที่ใช้แล้ว มีราคาถูกกว่ากันมาก ถึงแม้พลาสมา จะเป็นชีววัตถุ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ก็มีมาตรการในการตรวจความปลอดภัยที่จะนำพลาสมานั้นมาใช้ตามมาตรฐานสากล