หมอแก้วเผย ครบ 500 วัน ไทยสู้โควิด ลั่นตอนนี้น่าห่วง ไฟโหมแรงที่สุด

ไทม์ไลน์ทุกข์ หมอแก้วเผย ครบ 500 วัน ไทยสู้โควิด ลั่นตอนนี้น่าห่วง ไฟลุกแรงที่สุด วอนทุกคนอย่าด่าไฟ แต่จงช่วยกันดับ

เราอยู่กับความกลัว ความระแวง กับโรคอุบัติใหม่ที่ชื่อโควิด-19 กันมานานขนาดไหนแล้ว จำกันได้หรือเปล่า?

หลายคนโชคดีที่ตอนนี้ยังไม่เจอกับมัน แต่พูดไม่ได้เต็มปากว่าชนะ เพราเดาอนาคตที่กำลังจะเกิดไม่ได้เลย

และแน่นอนมีอีกหลายคนที่แพ้ โดยที่ไม่อยากแพ้ กี่วันไม่รู้กี่วันแล้ว เพราะไม่อยากจำ แต่วันนี้จันจะพาว่าย้อนไทม์ไลน์ทุกข์กันหน่อย ไม่ใช่เพื่อตอกย้ำทุกข์ในใจ แต่ย้อนดูหลายๆสิ่ง บทเรียนที่ผ่านมา การต่อสู้ของเราเหนื่อยแค่ไหน

วันนี้ 14 พ.ค.2564 เฟซบุ๊กชื่อ หมอแก้ว ผลิพัฒน์ ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ตั้งแต่ประเทศไทยเจอโควิดวันแรกถึงวันนี้ 500 วันพอดี

โดยคุณหมอร่ายความในใจว่า

500 วัน กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

การวิ่งมาราธอนที่คนไทยทุกคนต้องวิ่งไปด้วยกัน

จากวันที่ ธันวาคม 2563 (นับเป็นวันที่ 0 หรือ Day 0) ซึ่งเป็นวันที่เราเริ่มได้ยินข่าวว่ามีโรคอะรูก็ไม่ไร้ (อะไรก็ไม่รู้) เกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น มาถึงวันนี้นับได้ 500 วันพอดี ประเทศไทยเราได้ผ่านเรื่องราวต่างๆ มามากมาย ขอใช้โอกาสครบรอบ 500 วัน สรุปเหตุการณ์ที่ผมคิดว่าสำคัญที่เกิดขึ้น เพื่อให้หลายท่านได้ทบทวนและเรียนรู้กันพอสังเขปแล้วกันครับ

31 ธันวาคม 2562 -จีนรายงานการพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุเป็นกลุ่มก้อน ต่อองค์การอนามัยโลก โดยพบผู้ป่วยแล้ว 27 คน ทั้ง 27 คน มีประวัติเกี่ยวข้องกับ Wuhan Huanan Seafood Market และระบุว่าไม่มีการแพร่โรคจากคนสู่คน

3 มกราคม ปีที่แล้ว -ได้แจ้งคำสั่งในเริ่มดำเนินการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของกรมควบคุมโรคสำหรับโรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ และได้แต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ ท่ามกลางเสียงบ่นเล็กน้อยๆ ของพวกน้องๆ ที่รู้ว่าต้องเร่ิมมาทำงานกันในวันเสาร์อาทิตย์

7 มกราคม -มีข่าวว่าเชื้อก่อโรคคือ bat SARS-like coronavirus

8 มกราคม -พบผู้ป่วยสงสัยเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผลการตรวจเบื้องต้นพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้ชัดเจน

10 มกราคม -ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจพบเชื้อ bat SARS-like coronavirus ในผู้ป่วย

11 มกราคม – จีนเปิดตัวเชื้อก่อโรค

13 มกราคม – ไทยรายงานการพบผู้ป่วยรายแรก

20 มกราคม – ทางการจีนประกาศว่าโรคโควิด 19 สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

23 มกราคม – จีนเริ่มมาตรการล็อกดาวน์เมือง Wuhan ห้ามประชาชนออกจากบ้าน

27 มกราคม – รัฐบาลได้ยกระดับให้ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ติดตามและประเมินสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

30 มกราคม – องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติ

31 มกราคม – รายงานผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อในประเทศเป็นรายแรก

4 กุมภาพันธ์ – รับคนไทย 138 คนจากเมืองอู่ฮั่นกลับประเทศไทย โดยได้รับตัวไว้สังเกตอาการในสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลา 14 วัน พบผู้ติดเชื้อ 1 คน

15 กุมภาพันธ์ – ญี่ปุ่นบริจาค Favipiravir ให้ประเทศไทยจำนวน 200 เม็ด

24 กุมภาพันธ์ – ยา Favipiravir ล็อตแรก 5,000 เม็ดส่งถึงกรมควบคุมโรค

26 กุมภาพันธ์ – ยา Remdesivir ล็อตแรกส่งถึงกรมควบคุมโรค

29 กุมภาพันธ์ – คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย และประเทศไทยรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เสียชีวิตเป็นรายแรก

2 มีนาคม – มีข่าวแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้เดินทางกลับประเทศ

5 มีนาคม – ประกาศพื้นที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย

6, 8 มีนาคม – รายการมวยที่สนามมวยลุมพินี และสนามมวยราชดำเนิน

12 มีนาคม – สำนักนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19)

13 มีนาคม – ผู้มีชื่อเสียงที่ทำหน้าที่พิธีกรในสนามมวยประกาศตัวว่าติดเชื้อโควิด 19

13 มีนาคม – สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ประกาศขอให้คนไทยที่เข้าร่วมงานดาวะห์ และผู้ติดตามใกล้ชิดเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไปพบแพทย์ทันที

17 มีนาคม – คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วน และให้ปิดมหาวิทยาลัย โรงเรียนนาชาติ สถาบันกวดวิชา ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณและโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และงดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค

21 มีนาคม – ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศกิจการและสถานที่เสี่ยงบางประเภททั่วกรุงเทพฯ เป็นเวลา 22 วัน ทำให้ผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก และพบการรายงานผู้ป่วยในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ

22 มีนาคม – รายงานผู้ป่วยยืนยันสูงสุดของการระบาดในระลอกแรก จำนวน 188 คน

24 มีนาคม – ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563

31 มีนาคม – ประกาศให้สิทธิการรับบริการสาธารณสุขกรณีโรคโควิด 19 อยู่ในขอบเขตบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

2 เมษายน – ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานทั่วราชอาณาจักร (เคอร์ฟิว) และสั่งห้ามไม่ให้คนต่างชาติและคนไทยเดินทางเข้าประเทศไทย

4 เมษายน – สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศ ห้ามเครื่องบินทุกประเทศและผู้โดยสารเข้าประเทศไทย 3 วัน และได้ห้ามต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

7 เมษายน – คณะรัฐมนตรีมีมติเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 63

8 เมษายน – กระทรวงวัฒนธรรมออกประกาศห้ามจัดงานสงกรานต์

9 เมษายน – กรุงเทพมหานคร และหลายจังหวัดเริ่มประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ในวันเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขรายงานจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 54 คน และหลังจากวันที่ 9 เมษายนเป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยรายใหม่มีจำนวนน้อยกว่า 100 คนมาโดยตลอด

13 เมษายน – ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศไทย ได้พิจารณาออกคำสั่งปิดร้านค้าและสถานประกอบการจำหน่ายสุราเป็นการชั่วคราว

18-20 เมษายน – เริ่มเกิดกระแสสังคมเกี่ยวกับผู้มีจิตอาสาแจกสิ่งของ

24 เมษายน – บางจังหวัดในไทย (นครราชสีมา น่าน) เริ่มผ่อนปรนมาตรการ ปลดล็อคสถานที่ ธุรกิจบางประเภท

27 เมษายน – รายงานผู้ป่วยเป็นเลขหลักเดียว (9 ราย) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในเดือนมีนาคมเป็นต้นมา

3 พฤษภาคม – เริ่มมาตรการผ่อนปรน โดยเริ่มจากกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน และประเมินทุก ๒ สัปดาห์

13 พฤษภาคม – ไทยไม่พบผู้ป่วย (0 ราย) ในรอบเกือบ 4 เดือน

17 พฤษภาคม – เริ่มมาตรการผ่อนปรน หรือมาตรการคลายล็อกระยะที่ 2

25 พฤษภาคม – รายงานผู้ติดเชื้อในประเทศคนสุดท้ายของการระบาดระลอกที่ 1

1 มิถุนายน – เกิดเหตุการณ์ประชาชน ออกไปเที่ยวหาดบางแสนจนล้นหาด ทำให้เทศบาลเมืองแสนสุข ต้องออกประกาศปิดถนน และห้ามเข้าพื้นที่ชายหาดในเวลาต่อมา

5 มิถุนายน – กระทรวงคมนาคม ได้แจ้งให้หน่วยงานในสังกัดที่ให้บริการขนส่งสาธารณะทุกระบบสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ 100 % ทั้งรถโดยสารสาธารณะ (รถทัวร์) ทั่วประเทศ รถไฟทางไกลและเครื่องบิน

9-10 กรกฎาคม – คณะผู้บัญชาการทหารบก สหรัฐอเมริกา เดินทางมาประเทศไทย และสามารถเข้ามาปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ต้องกักกันตัว

12 กรกฎาคม – ศบค. เห็นชอบมาตรการ ผ่อนคลายผู้ไม่มีสัญชาติไทย เข้ามาในราชอาณาจักรไทย สำหรับกลุ่ม Medical Program (medical quarantine) โดยกำหนดเกณฑ์การเข้ามาและเลือกประเทศที่เสี่ยงต่ำถึงปานกลางก่อน

13 กรกฎาคม – เกิดเหตุการณ์ทหารอียิปต์ติดเชื้อ ไม่ให้ความร่วมมือตรวจหาเชื้อ และยังออกนอกโรงแรมกักกันโรค ที่จังหวัดระยอง และพบว่ามีการออกไปเดินห้างสรรพสินค้า และเด็กหญิงอายุ 9 ขวบลูกสาวอุปทูตติดเชื้อและเดินทางเข้ามาพักที่คอนโดส่วนตัวใน กทม.

20 – 24 กรกฎาคม – องค์การอนามัยโลกและองค์กรเครือข่ายดำเนินการสรุปบทเรียนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทย และดำเนินการถ่ายทำสารคดีสะท้อนความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่ 1 ของประเทศไทย

11 สิงหาคม – เกิดกรณีที่มีชายชาวญี่ปุ่นติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลังเดินทางกลับจากไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งการตรวจหาเชื้อของประเทศญี่ปุ่น เป็นการตรวจที่สนามบิน โดยใช้วิธี CLEIA (ChemiLuminescent Enzyme ImmunoAssay) โดยใช้ตัวอย่างน้ำลาย ซึ่งต่อมาเมื่อทำการตรวจยืนยันก็พบว่าผู้เดินทางคนดังกล่าวไม่ได้ติดเชื้อ

17 สิงหาคม – เกิดกรณีชาวมาเลเซียติดเชื้อโควิด 19 หลังเดินทางกลับจากไทย ในประเทศไทยได้ดำเนินการสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัส พบว่าผู้สัมผัสทุกรายไม่มีผู้ใดติดเชื้อ

15 กันยายน – ครม. อนุมัติหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ให้คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ในขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานและ ศบค. อนุมัติให้จังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดนำร่องเปิดรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาความต้องการแรงงาน และอนุญาตแรงงานกัมพูชาเป็นชุดแรกจำนวน 500 ราย ผ่านจุดผ่านแดนถาวรหมู่บ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี

28 กันยายน – ศบค. มีมติอนุญาตบุคคล 6 กลุ่ม เดินทางเข้าไทย เช่น นักกีฬาต่างชาติที่จะเข้ามาแข่งขันกีฬาจักรยานทางไกล นักบินและลูกเรือ ผู้ที่ถือวีซ่าประเภทอยู่ชั่วคราวประเภทต่างๆ ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยวสำหรับกลุ่ม long stay ผู้ถือบัตร APEC Card เป็นต้น

1 ตุลาคม – มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญคือมีท่านปลัดกระทรวง อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมอนามัย และอธิบดีกรมสุขภาพจิต ท่านใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่

9 ตุลาคม – กรมควบคุมโรค เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดระลอกใหม่อย่างจริงจัง ด้วยการยกระดับและปรับปรุงสมรรถนะด้านต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งการปรับปรุงแนวทางการควบคุมโรค การจัดสถานกักกันเพิ่มเติม การวางระบบเฝ้าระวังและตรวจจับในหลายระดับ การเพิ่มจำนวนหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค 3 เท่าจากที่มีอยู่ 1,000 ทีม การเตรียมความพร้อมระบบบัญชาการเหตุการณ์ทุกการขยายศักยภาพด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น

16 ตุลาคม – เริ่มพบผู้ติดเชื้อโควิดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

15 ตุลาคม – กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี ประกาศความร่วมมือกับแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาอ๊อกฟอร์ดผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นชาติแรกในอาเซียน

17 ตุลาคม – ผู้ว่าราชการจังหวัดตากประกาศปิดกิจการที่มีความเสี่ยง จำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่เสี่ยง เพิ่มความเข้มงวดมาตรการป้องกันควบคุมโรค ปิดด่านขนส่งสินค้า และเข้มงวดป้องกันการเดินทางเข้าออกผ่านทางช่องทางธรรมชาติ

21 ตุลาคม – พบผู้ติดโรคโควิด 19 ในประเทศไทย เป็นนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส วัย 57 ปี ซึ่งได้รับการกักตัวครบ 14 วันในสถานกักกันทางเลือกแล้ว คาดว่าอาจจะเป็นการติดเชื้อระหว่างที่กักกันตัวอยู่ในสถานที่กักกันทางเลือก ซึ่งนำไปสู่การเข้มงวดวิธีปฏิบัติในสถานกักกันทางเลือก

26 ตุลาคม – สถานการณ์การระบาดที่แม่สอดเริ่มดีขึ้น จังหวัดตากจึงเริ่มมาตรการผ่อนคลาย และให้สามารถกลับมาเปิดด่านแม่สอดได้ภายใต้เงื่อนไขการดำเนินมาตรการป้องกันการติดเชื้อที่เคร่งครัด

30 ตุลาคม – พบแรงงานเมียนมาเข้าเมืองผิดกฎหมายผ่านทางชายแดนไทย-มาเลเซียติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่พัทลุง 1 ราย

8 พฤศจิกายน – กระทรวงสาธารณสุข มีแผนที่จะเริ่มนำร่องการกักตัว 10 วันในกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย

10 พฤศจิกายน – พบผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 ราย อาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร