ห้ามทิ้ง! กรม สบส.ย้ำรพ.เอกชน พบหญิงท้องป่วยโควิดต้องรักษาให้ทันท่วงที

อธิบดีกรม สบส. ย้ำ! รพ.เอกชนทุกที่ ห้ามทิ้งหญิงท้องป่วยโควิด ต้องรักษา-คลอด ให้ทันท่วงที

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ย้ำ! โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ดูแลหญิงตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด หากพบว่าป่วยโควิด ต้องให้การช่วยเหลือ รักษาพยาบาลหรือส่งต่อผู้ป่วยอย่างทันท่วงที ห้ามทอดทิ้ง หรือปล่อยให้ผู้ป่วยหาสถานที่รักษาพยาบาลเอง

วันนี้(26 ส.ค. 74) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่สถานพยาบาลทุกแห่งต่างเกิดข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทั้งจำนวนเตียงในการรักษา ยา และเวชภัณฑ์ ทำให้คุณแม่หลายท่านเกิดความกังวลว่าหากตนเกิดป่วยด้วยโรคโควิด 19 และต้องคลอดในขณะที่ยังไม่หายดี หรือตรวจพบว่ามีเชื้อโรคโควิด 19 ในขณะที่จะต้องคลอดฉุกเฉินแล้วด้วยข้อจำกัดในด้านทรัพยากรของสถานพยาบาลจะทำให้ตนถูกปฏิเสธการรักษา หรืออาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากนั้น

กรม สบส.ขอเรียนว่า สตรีมีครรภ์ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 สูงกว่าบุคคลทั่วไป อีกทั้งเด็กที่เกิดก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต หรือติดโรคจากแม่ สถานพยาบาลจะต้องให้การเฝ้าระวัง ดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด หากตรวจพบว่าคุณแม่ท่านใดมีอาการป่วยด้วยโรคโควิด 19  สถานพยาบาลที่ผู้ป่วยฝากครรภ์ไว้จะต้องให้การดูแลอย่างทันท่วงที ห้ามปฏิเสธการรักษา แต่หากมีข้อจำกัดของบุคลากร หรือเตียงจนไม่สามารถให้บริการรักษาพยาบาล/คลอดฉุกเฉินได้ในขณะนั้น ก็จะต้องมีการดูแลจัดการส่งต่อผู้ตั้งครรภ์ไปยังสถานพยาบาลอื่นตามความเหมาะสม ห้ามทอดทิ้งปล่อยให้ผู้ป่วยหาที่รักษาเอง

ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ให้สถานพยาบาลทำการเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) จึงขอให้คุณแม่ทุกท่านวางใจได้ว่าหากต้องคลอดแล้วพบว่าป่วยด้วยโรคโควิด 19 ก็จะสามารถรับบริการได้จากสถานพยาบาลใกล้บ้านอย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคโควิด 19 แต่อย่างใด

หากสถานพยาบาลเอกชนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ หากประชาชนประสบปัญหาการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติของสถานพยาบาลเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426