อนุทิน รับ โอมิครอน ระบาดเร็ว แต่ รุนแรงน้อยลง

กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์ โอมิครอน ด้าน “อนุทิน” ยอมรับ ระบาดเร็ว แต่รุนแรงน้อยลง เตรียมเสนอ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการ หาก สถานการณ์ดีขึ้น

วันนี้ (14 ม.ค. 65) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทินกล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่ 2565 จนถึงวันนี้ มีสายพันธุ์ โอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคลดลง ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนัก ไม่เพิ่มมากขึ้น ผู้เสียชีวิตอยู่ในลดลง เหลือที่ประมาณไม่เกิน 20 รายต่อวัน ซึ่งข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ต่างๆ สอดคล้องกันว่า เชื้อสายพันธุ์ โอมิครอน ติดง่ายแต่รุนแรงไม่เท่า เดลตา ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนข้อเสนอจากคณะแพทย์ สถาบันการแพทย์ต่าง ๆ ที่ให้มีมาตรการที่ประชาชน จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากที่สุด และเมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุด และเร็วที่สุด และพร้อมเสนอมาตรการเพิ่ม หากมีสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน

ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับมาตรการรับมือโอมิครอนมี 4 ด้าน คือ

1.มาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อชะลอการระบาด

2.มาตรการการแพทย์ เน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน โดยจัดยา เวชภัณฑ์ พร้อมติดตามอาการทุกวัน

3.มาตรการทางสังคม ขอให้ร่วมมือป้องกันตนเองสูงสุด

4.มาตรการสนับสนุน เรื่องค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม และขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินตามมาตรการ VUCA คือ V ไปฉีดวัคซีนตามกำหนด, U ป้องกันตนเองกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา, C ใช้ COVID Free Setting ทำให้สถานที่ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการมีความปลอดภัย, และ A ตรวจ ATK เป็นประจำ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคติดตามประเมินประสิทธิผล วัคซีนโควิด 19 ในพื้นที่จริง ตั้งแต่ช่วงสิงหาคม – ธันวาคม 2564 จากการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งพบว่า วัคซีนทุกสูตรมีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยรุนแรง และเสียชีวิต สูงประมาณ 90-100% ส่วนการป้องกันการติดเชื้อมีประสิทธิผลสูงพอสมควร แต่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับ การฉีดเข็มกระตุ้น หรือการ ฉีดสูตรไขว้ จะเพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้น จึงช่วยควบคุมการระบาดได้ดี สำหรับผู้ที่ ฉีดวัคซีนเชื้อตาย และรับเข็ม 3 ด้วย แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ พบว่า มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตสูงไม่แตกต่างกัน ส่วนการรับเข็ม 3 ด้วย แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ สามารถป้องกัน โอมิครอน ได้ 80-90% ดังนั้นการฉีด วัคซีนเข็มกระตุ้น จึงเป็นนโยบายสำคัญ โดยผู้ที่ได้รับสูตรไขว้ ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ครบช่วงสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ให้ฉีดกระตุ้นด้วย แอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก และยืนยันว่าขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอ

คลิปอีจันแนะนำ
ฟังคำสารภาพ 4 พราน ล่า ฆ่า 2 เสือโคร่ง @ป่าทองผาภูมิ