แพทย์ชนบท 40 ทีม 400 ชีวิต บุกกรุง เสริมทัพสู้โควิดเมืองกรุง

บ้านเราก็ไม่เบา เเต่กรุงเทพหนักกว่า! แพทย์ชนบท 40 ทีม 400 ชีวิต บุกกรุง เสริมทัพสู้โควิดเมืองกรุง

ผู้ป่วยล้นกรุง โรงพยาบาลเต็ม หมอไม่ไหว วิกฤตจ่ออกด่านหน้า จนต้องขอกำลังเสริม

วานนี้ 4 ส.ค.2564 นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ภาพทีมเเพทย์ชนบท บุกกรุงครั้งที่3 เพื่อสู้กับโควิด

โดยระบุข้อความว่า

เริ่มแล้ว…day1 ปฏิบัติการแพทย์ชนบทกู้ภัยโควิดกรุงเทพมหานคร.4-10 สิงหาคม​ 2564

กว่า400ชีวิตจาก40ทีม​ พร้อม!!

ทุกคนมาด้วยพลังและความมุ่งมั่น​ ลงปฏิบัติการ 24 จุดทั่วกรุง

การสู้กับเชื้อโรคครั้งนี้​ เป้าหมายคือค้นหาผู้ติดเชื้อให้มาก​ เจอให้เร็ว รักษาจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์เร็ว​ นำเข้าระบบ​ home isolation จะได้ลดอัตราป่วยหนักที่ต้องการเตียงโรงพยาบาล(เพราะเตียงโรงพยาบาลล้นสุดๆแล้ว)​ และลดอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องจากการเข้าไม่ถึงยาหรือเข้าไม่ถึงโรงพยาบาลลงได้

เราคงลดอัตราการติดเชื้อไม่ได้​โดยง่าย แต่หวังว่าจะลดอัตราเตียงล้นโรงพยาบาลในกรุงเทพและลดอัตราตายลงได้บ้าง

แพทย์ชนบทบุกกรุงครั้งที่ 3 ปฏิบัติการสร้างความหวัง สู้ภัยโควิด เพื่อคนกรุง

หลังจากการปฏิบัติการแพทย์ชนบททั้ง 2 ครั้ง วันวันที่ 14-16 และ วันที่ 21-23 กรกฏาคม 2564 ซึ่งมีทีมแพทย์ชนบทรวม 2 ครั้ง 20 ทีมมาร่วมบุกกรุง เพื่อตรวจคัดกรองโควิดให้กับคนกรุงในพื้นที่ชุมชนแออัดที่เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ สามารถตรวจหาเชื้อได้กว่า 51,000 ราย พบผู้ติดเชื้อกว่า 7,000 ราย และสัญญาว่า “เราจะกลับมาอีก”

หลังจากการเตรียมตัวอย่างทรหดและประสานงานกันมาหลายวัน ปฏิบัติการบุกกรุงในครั้งที่ 3 จึงเกิดขึ้นอีกครั้งแน่นอนแล้วในวันที่ 4-10 สิงหาคม 2564 ต่อเนื่องรวม 7 วัน ด้วยทีมบุคลากรสาธารณสุขจากต่างจังหวัดกว่า 38 ทีม เฉลี่ยทีมละ 8-10 คน เล็กบ้างใหญ่บ้างตามแต่ใครจะรวบรวมกำลังส่งมาช่วยกู้กรุงได้กี่คน

Design การทำงานกู้ภัยโควิดในครั้งนี้จะครบวงจรมากขึ้น เริ่มด้วยการทำการ swab หาเชื้อด้วย rapid test หากได้ผลลบให้กลับบ้านได้หรือไปรับบริการวัคซีนจากทีมของกรุงเทพมหานครที่จะมาร่วมออกหน่วยด้วย แต่หากผลเป็นบวกก็จะถูกตามมาตรวจ rtPCR ซ้ำ ได้รับบริการยาฟ้าทะลายโจรหรือ Favipiravir และนำเข้าระบบ Home Isolation ของ สปสช.ในวันเดียวกันเพื่อการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง

ครั้งนี้ด้วยความร่วมมือที่กว้างขวาง จะมีการระดมทีมลงปฏิบัติการในชุมชนวันละ 30 จุด โดยสามารถตรวจและดูแลตามภารกิจที่วางไว้ได้จุดละ 1,000 คนต่อวัน รวมเป็นวันละ 30,000 ราย x 7 วันก็จะคัดกรองโรคได้ประมาณ 210,000 ราย

และจะมีทีมของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ที่จะนำทีมใหญ่มาคัดกรองแบบ walk in วันละ 5,000 คน ในจุดต่างๆ เปลี่ยนจุดไปทุกวัน x 7 วัน ก็จะคัดกรองได้อีก 35,000 ราย

ดังนั้นจากการประมาณการ ปฏิบัติการครั้งนี้จะสามารถคัดกรองผู้คนในเมืองกรุงได้ 250,000 ราย หากผลบวกอยู่ที่ประมาณ 10-15% ก็จะพบผู้ที่มีเชื้อโควิดที่จะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา จำนวน 25,000-32,500 คน ซึ่งน่าจะสามารถตัดตอนการระบาดไปได้พอสมควร และสามารถช่วยลดภาระเตียงล้นของโรงพยาบาลใน กทม.ลงได้ เพราะเราจะพยายามจ่ายยา favipiravir ให้กับผู้ติดเชื้อตามเกณฑ์ที่ควรรับยาทุกคน เพื่อลดโอกาสที่เขาจะป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล

ปฏิบัติการแห่งความหวังในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่รวมพลังกันสู้ภัยโควิด กทม. อันได้แก่ ชมรมแพทย์ชนบท กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร รวมทั้งทีมอาสาจากภาคประชาชนคือ ทีมโควิดชุมชน(Com-Covid) เครือข่ายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และ IHRI และอีกหลายองค์กร เป็นความร่วมมือที่มหัศจรรย์ภายใต้เงื่อนเวลาที่เร่งรัดและทุกคนต่างก็มีภารกิจประจำอันมากมาย

หัวใจของการสู้ภัยโควิดอยู่ “ความหวัง” ปฏิบัติการครั้งนี้มุ่งสร้างความหวังให้กับทุกคนในกรุงเทพมหานครรวมทั้งคนไทยทั้งประเทศ ด้วยความหวังที่อยากเห็นทุกคนทุกองค์กรออกมาช่วยกัน ระดมสรรพกำลังให้เต็มที่ ใครทำอะไรได้ทำ อย่าคิดนาน ทำด้วยความเร็วในอัตราเร่งที่ให้ทันกับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า ความหวังในท่ามกลางความหดหู่ที่แสนเหน็ดเหนื่อยเท่านั้นที่จะช่วยให้ทุกคนฮึดสู้ และรวมพลังคนไทยสู้ภัยโควิดในครั้งนี้ ให้เราผ่านมันไปด้วยความสูญเสียทั้งด้านชีวิตและเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด

นี่คือความในใจของทีมด่านหน้า จันนับถือหัวใจที่สุด