นพ.ธีระ ชี้ โควิดสายพันธุ์ใหม่ใช้ระยะฟักตัวสั้น

นพ.ธีระ เผยผลวิจัยระยะฟักตัวของโควิดแต่ละสายพันธุ์จนแสดงอาการ พบสายพันธุ์ใหม่ใช้ระยะฟักตัวจนแสดงอาการสั้น

วันนี้ (23 ส.ค.65) นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับระยะฟักตัวของโควิดแต่ละสายพันธุ์ ว่า ระยะฟักตัวเฉลี่ยของโควิด 19 แปลว่า ระยะเวลาตั้งแต่มีการติดเชื้อจนเริ่มมีอาการ ซึ่งพบว่า มีระยะเวลาสั้นลงอย่างต่อเนื่อง

เรียงลำดับสายพันธุ์และระยะเวลาฟักตัว

-สายพันธุ์อัลฟ่า เริ่มติดเชื้อจนมีอาการ ใช้เวลาราว 5 วัน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 4.94-5.06 วัน)

-สายพันธุ์เบต้า ใช้เวลา 4.5 วัน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.83 – 7.17 วัน)

-สายพันธุ์เดลต้า ที่ระบาดหนักปีที่แล้ว ใช้เวลา 4.41 วัน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 3.76 – 5.05 วัน)

-ล่าสุดสายพันธุ์ โอมิครอน (Omicron) ที่ระบาดปีนี้ ใช้เวลาสั้นลงเหลือ 3.42 วัน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 2.88 – 3.96 วัน)

นพ.ธีระ ระบุว่า การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์อัลฟ่ากับเบต้ามีระยะฟักตัวพอ ๆ กับสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เริ่มระบาดที่อู่ฮั่น คือ ราว 5.2 วัน แต่หลังจากนั้น สายพันธุ์ที่ระบาดในช่วงหลัง ตั้งแต่กลางปีที่แล้วเป็นต้นมาคือ เดลต้าและ Omicron มีระยะฟักตัวที่สั้นลงกว่าเดิมอย่างชัดเจน

ภาพรวมของการระบาดทั้งหมดที่ผ่านมา ระยะฟักตัวเฉลี่ยของทุกสายพันธุ์ที่ศึกษาอยู่ที่ 6.65 วัน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 6.31-6.99 วัน) โดยสั้นสุดที่ 1.8 วัน และยาวนานสุดที่ 18.87 วัน

หากลองจำแนกตามความรุนแรงของโรค จะพบว่า คนที่ติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรงนั้นมีแนวโน้มที่จะมีระยะฟักตัวสั้นกว่าคนที่ติดเชื้อแล้วอาการน้อย

ในขณะที่เด็ก มีระยะเวลาฟักตัวอยู่ที่ 8.82 วัน ช่วงความเชื่อมั่น 8.19-9.45 วัน และคนสูงอายุ มีระยะเวลาฟักตัว 7.43 วัน ช่วงความเชื่อมั่น 5.75-9.11 วัน จะมีระยะฟักตัวนานกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั้งหมด

ประโยชน์ของงานวิจัยนี้ ช่วยให้เราทราบธรรมชาติของโรค และคอยสังเกตอาการผิดปกติหลังจากมีประวัติไปคลุกคลีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือหลังจากที่มีความเสี่ยง

…ในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การใช้ชีวิตประจำวันจำเป็นต้องมีความตระหนักและใส่ใจต่อสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัว การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก

คลิปอีจันแนะนำ
อัจฉริยะล้วงพรีมายา! ลงทุน 6,000 กำไร 15 ล้าน จริงหรือหลอก?