ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอไมครอนลูกผสม ดื้อยา-แพร่เร็ว ทำวัคซีนตามไม่ทัน

ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอไมครอนลูกผสม ดื้อยา-แพร่เร็ว ทำวัคซีนตามไม่ทัน องค์การอนามัยโลก ชี้ คนหลายล้านกำลังติดเชื้อโควิดซ้ำ และเข้าสู่โหมดรักษามากการป้องกัน

ไม่เห็นหนทางคำว่า จบ! สำหรับการแพร่ระบาดของ โควิด-19

ล่าสุด (4 พ.ค.66) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics อธิบายถึงการเฝ้าระวัง 18 ตำแหน่งสำคัญบนจีโนมของไวรัสโควิด-19 ที่ อย. สหรัฐระบุก่อให้เกิดการดื้อต่อยา “แพกซ์โลวิด” ในหลอดทดลอง โดยระบุว่า…

โอไมครอนลูกผสม  4 สายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังให้ความสนใจหรือเฝ้าจับตาคือ  XBB.1.5, XBB.1.9.1, XBB.1.16, และล่าสุดคือ XBB.2.3 ซึ่งกำลังจะทำให้การป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไป

โอไมครอนในกลุ่ม XBB ทำให้วัคซีนทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นรุ่นแรกหรือรุ่นที่สองด้อยประสิทธิภาพลงเพราะบริษัทผลิตวัคซีนไม่สามารถพัฒนาวัคซีนตามการกลายพันธุ์ของโอไมครอนได้ทัน  องค์การอนามัยโลกระบุว่าในแต่ละสัปดาห์ยังมีผู้คนหลายล้านคนกำลังติดเชื้อโควิด (ซ้ำ) โดยมีผู้ป่วยหลายแสนคนที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และอีกหลายพันคนที่เสียชีวิตจากโควิดทำให้เราได้เข้าสู่โหมดการรักษาโควิด-19 กันมากขึ้นโดยจากเดิมเราจะอยู่ในโหมดการป้องกัน เช่น กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่าง หน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีน (ซึ่งด้อยประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลงทุกขณะ) เปลี่ยนมาเป็นเข้าสู่โหมดการรักษาด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูป และยาต้านไวรัสเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต

ทั้งนี้ ดร.  เดโบราห์ เบิร์กซ์ (Deborah Birx)  อดีตแพทย์ใหญ่ประจำทำเนียบขาว คาดว่าในที่สุดแล้วโควิด-19 จะกลายพันธุ์ดื้อต่อยา “แพกซ์โลวิด (Paxlovid)” อันอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอย่างรวดเร็ว

แอนติบอดีสำเร็จรูปที่แพทย์ใช้รักษาโรคโควิดนั้นจะให้กับผู้ติดเชื้อในกลุ่มเปราะบาง หรือในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีจากการฉีดวัคซีนหรือติดเชื้อตามธรรมชาติ แต่เมื่อมีการระบาดของโอไมครอนในกลุ่มสายพันธุ์ย่อย XBB ที่มีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วทำให้ปัจจุบันมีแอนติบอดีสำเร็จรูปเหลือเพียงประเภทเดียวคือ โซโทรวิแมบ (sotrovimab) ที่พอจะใช้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของโอไมครอนกลุ่ม XBB ในร่างกายผู้ติดเชื้อได้

ส่วนยาต้านไวรัสนอร์มาเทรลเวียร์ (nirmatrelvir) เป็นยาต้านไวรัสชนิดกิน ออกฤทธิ์ผ่านกลไกการยับยั้งเอนไซม์ 3CL โพรตีเอสของไวรัสโควิด-19  ใช้เครื่องหมายการค้าเป็นแพกซ์โลวิด (Paxlovid) และ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่ให้กับผู้ติดเชื้อทางเส้นเลือดดำจะถูกนำไปใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาที่ติดตามมาคืออาจสุ่มเสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยาเนื่องจากเรามียาต้านไวรัสไม่กี่ชนิดที่ทางองค์การอาหารและยาในหลายประเทศอนุมัติให้ใช้รักษาโรคโควิด-19  ทำให้ปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสโควิด-19 ในรูปแบบของยาเดี่ยว (monotherapy) ขณะที่ยาต้านไวรัสเอชไอวีในอดีตที่ไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัสเอชไอวีหลายตัวประสบปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นการใช้ยาเพียงตัวเดียวในการรักษาซึ่งก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย จนกระทั่งมีการปรับการรักษาด้วยการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2-3 ชนิดพร้อมกัน (antiviral combination therapy) ทำให้ปัญหาเชื้อเอชไอวีดื้อยาลดลงตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นเพื่อเป็นการติดตามเชื้อโควิดดื้อยาที่อาจเกิดการระบาดขึ้นในประเทศไทย ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี จึงได้เตรียมพร้อมในการตรวจสอบเชื้อโควิดดื้อยาแพกซ์โลวิดเป็นอันดับแรกด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม

แพกซ์โลวิดเป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่ใช้ต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ที่มุ่งเป้าไปที่โปรตีเอส 3CL ของไวรัสโคโรนา 2019 แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเริ่มกังวลว่าจากการใช้ยาแพกซ์โลวิดที่เพิ่มมากขึ้น อาจประสบปัญหาเชื้อดื้อยาแพกซ์โลวิดในอนาคต  ดังนั้น องค์การอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐจึงได้ออกเอกสารข้อมูลสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่จะนำยาแพกซ์โลวิดไปใช้ในกรณีฉุกเฉิน (FACT SHEET FOR HEALTHCARE PROVIDERS: EMERGENCY USE AUTHORIZATION FOR PAXLOVIDTM) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซด์ของ อย. สหรัฐ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566

โดยในเอกสารได้ระบุถึงตำแหน่งการกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) ในส่วนที่สร้างโปรติเอส 3CL จำนวน 18 ตำแหน่งสำคัญ ที่แต่ละตำแหน่งที่กลายพันธุ์จะส่งผลให้การทดสอบในหลอดทดลองเกิดการดื้อต่อยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิดเพิ่มเป็นหลายเท่า

โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมากพอที่จะระบุว่าการกลายพันธุ์ทั้ง 18 ตำแหน่งดังกล่าวจะก่อให้เกิดเชื้อโควิดดื้อยาในร่างกายผู้ติดเชื้อเหมือนเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลอดทดลองเลี้ยงไวรัสกับเซลล์ที่มียาแพกซ์โลวิดผสมอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ดีทางศูนย์จีโนมฯได้ตรวจสอบรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ที่จัดเก็บบนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) ในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 4,765,147 ราย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้ยาแพกซ์โลวิดมากที่สุดในโลก เปรียบเทียบกับตัวอย่างจากประเทศไทยจำนวน  39,622 รายที่เพิ่งเริ่มใช้ยา

ดังนั้น ต้องติดตามเกี่ยวกับการดื้อยาและการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกัน

คลิปอีจันแนะนำ
ใครผิด? หมาวิ่งตัดหน้ารถ..ตายคาที่ รถพังยับ!