หมอธีระ เผย ติดโควิด กักตัว 5 วันไม่พอ

หมอธีระ บอกติดโควิด กักตัว 5 วันไม่พอ เเม้กักครับ 10 วันเเล้ว โอกาสเเพร่ยังมี 10% พบลองโควิด มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

(22 ส.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ “หมอธีระ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ว่า

โดยระบุข้อความว่า “เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 546,617 คน ตายเพิ่ม 860 คน รวมแล้วติดไป 600,799,656 คน เสียชีวิตรวม 6,471,687 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี

เมื่อวานนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.78 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.81

สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค. จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

อัพเดตแนวโน้มการระบาด

ข้อมูลจาก Prof.Tom Wenseleers ประเทศเบลเยี่ยม วิเคราะห์แนวโน้มการระบาดของหลายประเทศทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 น่าจะเบียด BA.5 ที่ครองการระบาดขณะนี้ได้ในช่วงหลายเดือนถัดจากนี้ไป ในขณะที่สายพันธุ์ย่อยที่เป็นลูกของ BA.5 อย่าง BA.5.2.1.7 นั้นพบมากขึ้นในบางประเทศ แต่ยังไม่เป็นที่น่ากังวล

Long COVID ในประเทศลักเซมเบิร์ก

Fischer A และคณะ จากลักเซมเบิร์ก ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ Open Forum Infectious Diseases เมื่อวันที่ 5 ส.ค.65 ที่ผ่านมา าสำรวจเพื่อประเมินภาวะ Long COVID และผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ณ 12 เดือนหลังจากติดเชื้อ สาระสำคัญ พบว่า โดยรวมแล้วพบว่ามีคนที่ประสบอาการผิดปกติอย่างน้อย 1 อาการ สูงถึงเกือบ 60% ทั้งนี้หากเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ พบว่าประสบปัญหาราวหนึ่งในสาม แต่กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วป่วยปานกลางหรือรุนแรงจะมีโอกาสเกิดปัญหามากกว่า

ที่น่าสนใจคือ ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ (Poor sleep) นั้นพบบ่อยถึง 54.2% โดยพบได้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อทุกกลุ่มอาการ ไม่ว่าจะไม่มีอาการ (38.6%) อาการน้อย (54.1%) อาการปานกลาง หรืออาการมาก (63.8%)

แม้กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาอาจไม่มากนัก แต่เป็นข้อมูลที่ย้ำเตือนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

ความรู้เรื่องจำนวนวันในการแยกกักตัว กับเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ นโยบายสาธารณะที่ออกมาแล้วส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคมนั้น จำเป็นต้องยืนบนพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้อง บอกรายละเอียดให้ประชาชนได้ทราบ และสามารถตรวจสอบที่มาและพิสูจน์ได้ ย้ำอีกครั้งว่า ความรู้ทางการแพทย์พิสูจน์ให้เห็นชัดเจน ว่า การแยกตัว 5 วันนั้นไม่เพียงพอ

มีงานวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกา และจากสหราชอาณาจักร ที่ยืนยันให้เห็นชัดเจน

5 วัน มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะยังคงมีเชื้ออยู่และสามารถแพร่ให้คนรอบข้างได้นั้นสูงถึง 50-75%

7 วัน ความเสี่ยงยังคงสูงถึง 25-35%

10 วัน จะมีความเสี่ยงราว 10%

หลัง 14 วันจะปลอดภัย

แต่การปฏิบัติตัวในชีวิตจริงนั้น แนวทางที่ยืดหยุ่นและเป็นไปได้สำหรับประชาชน คือ หากติดเชื้อหรือมีอาการ “ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน”

และเมื่อครบ 7-10 วันแล้ว ก่อนออกมาใช้ชีวิต ทำงาน หรือศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องแน่ใจว่าผ่าน 2 ข้อต่อไปนี้คือ

1. ไม่มีอาการแล้ว

2. ตรวจ ATK แล้วได้ผลเป็นลบ และควรป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องไปจนครบสองสัปดาห์

นี่คือสิ่งที่คนที่มีความรู้เท่าทันควรนำไปพิจารณา และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยรับรู้ถึงความเสี่ยงแต่ละระดับที่จะเกิดขึ้น และวางแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดปัญหา

ขอให้ทบทวนบทเรียนในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาให้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น และเพราะเหตุใด

สัจธรรมของชีวิต ไม่ว่าจะที่ใดในโลก ชีวิตใครใครก็รัก มิใช่การบอกให้ไปในทางที่เสี่ยงมาก แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เป็นเช่นไร สมดุล กับ สังเวย นั้นแตกต่างกันตรงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียด ความรู้ที่ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ มิใช่การบอกให้ทำ เปิดเท่าที่อยากเปิด และเปิดยามที่อยากเปิด

ทุกชีวิตมีคุณค่าเสมอ”

อ้างอิง

Fischer A et al. Long COVID Symptomatology After 12 Months and Its Impact on Quality of Life According to Initial Coronavirus Disease 2019 Disease Severity. Open Forum Infectious Diseases. 5 August 2022.

ขอบคุณภาพเเละข้อมูล : FB Thira Woratanarat

คลิปอีจันแนะนำ
DragQueen ขายโลงศพ หายใจไม่ออกบอกนาตาเลีย