
วันที่ 9 พ.ค.66 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัปเดทสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ว่า..
สองสัปดาห์ก่อนองค์การอนามัยโลก (WHO) ปรับชนิดสายพันธุ์ที่ติดตามใกล้ชิดโดยเพิ่ม XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง ล่าสุดต้นเดือนพฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยโลกปรับเพิ่ม XBB.1.9.2 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง
โดยสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง ได้แก่ XBB.1.5 และ XBB.1.16
ส่วนสายพันธุ์ที่ต้องจับตามองมี 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2.75, CH.1.1, BQ.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2 และ XBF
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สถานการณ์สายพันธุ์เชื้อ SARS-CoV-2 ทั่วโลกอ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ในรอบสัปดาห์ 10 - 16 เมษายน 2566 พบสัดส่วนของสายพันธุ์แตกต่างจากรอบ 1 เดือนก่อนหน้า ดังนี้
-XBB.1.5 รายงานจาก 106 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 46.7 ลดลงจากร้อยละ 49.3
-XBB.1.16 รายงานจาก 40 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 5.7 เพิ่มจากร้อยละ 2.0
-XBB, XBB.1.9.1 และ XBB.1.9.2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
-BA.2.75, CH.1.1, BQ.1 และ XBF มีแนวโน้มลดลง
สถานการณ์ล่าสุดในไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2566 มีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จำนวน 372 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 323 ราย คิดเป็น 86.8% โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้ พบสายพันธุ์ลูกผสมมากกว่า 74 % ในทุกเขตสุขภาพ ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งมีตัวอย่างส่งตรวจน้อย พบมากที่สุดเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 คิดเป็น 27.7 % รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.5 คิดเป็น 22.0 % ในขณะที่ BN.1 ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 มีสัดส่วนลดลง
ด้วยความห่วงใยการป้องกันตนเองจากโควิด-19 ยังสำคัญนะคะ สวมแมสก์เมื่อออกนอกบ้านทุกครั้ง