อึ้ง! Long COVID ทำให้คนต้องอยู่กับภาวะทุพพลภาพมากขึ้นถึง 5,200 ปี

นพ.ธีระ เผยผลการสำรวจของต่างประเทศ พบว่า Long COVID ทำให้คนต้องอยู่กับภาวะทุพพลภาพมากขึ้นถึง 5,200 ปี

โควิด 19 แม้จะถูกจัดให้เป็นโรคประจำถิ่น แต่ผลกระทบของโควิดก็ยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (5 เม.ย.66) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 พร้อมอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับ Long COVID ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 41,986 คน ตายเพิ่ม 138 คน รวมแล้วติดไป 684,169,290 คน เสียชีวิตรวม 6,832,807 คน โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และโปแลนด์

นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ ยังอัปเดตเกี่ยวกับ Long COVID ว่า

1. ผลของการติดเชื้อต่อการลาหยุดงาน

O’Regan E และคณะจากประเทศเดนมาร์ก ทำการประเมินผลกระทบของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ต่อเรื่องการลาหยุดงานด้วยเหตุผลของการเจ็บป่วยในช่วงเวลาต่อมาพบว่า กลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อนนั้นจะมีการลาหยุดงานด้วยเรื่องการเจ็บป่วยมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ติดเชื้อ

เฉลี่ยแล้วทุกๆ 1,000 คน กลุ่มที่เคยติดเชื้อมาก่อนจะมีคนที่ลาหยุดงานรวมนานกว่า 1 เดือนในช่วง 1-9 เดือนหลังติดเชื้อ มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ติดเชื้อราว 33 คน

ลักษณะของคนที่เสี่ยงต่อการต้องลาหยุดมากนั้น ได้แก่ เพศหญิง, อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัวมาก่อน

2. Long COVID ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพมากขึ้น

Howe S และคณะจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการประเมินผลกระทบของภาวะ Long COVID ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron BA.1 และ BA.2 ซึ่งระบาดในช่วงปีก่อน

พบว่า Long COVID ทำให้มีจำนวนปีที่ประชากรต้องอยู่กับภาวะทุพพลภาพมากขึ้นถึง 5,200 ปี (Years of living with disabilities: YLDs)

สำหรับภาวะทุพพลภาพ หมายถึง ความจำกัด หรือ สูญเสียความสามารถในการประกอบกิจต่างๆ ที่ควรจะกระทำได้เป็นปกติ อันเป็นผลที่ตามมาจากภาวะบกพร่อง เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับจำนวนปีที่ต้องอยู่กับภาวะทุพพลภาพทั้งหมดที่เกิดจากโรคโควิด-19 แล้ว Long COVID เป็นสาเหตุหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงสามในสี่ (74%)

ปัจจุบันสถานการณ์ระบาดและจำนวนเสียชีวิตโดยรวมทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง แต่เราล้วนทราบกันดีว่า ในแต่ละวันยังมีเหยื่อที่ต้องป่วย และเสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการฉีดวัคซีนจนครบเข็มกระตุ้นนั้น จะช่วยลดเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ได้ แต่ไม่ได้การันตี 100%

ดังนั้นพฤติกรรมการป้องกันตัว ใส่ใจสุขภาพ ระมัดระวัง ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาทจึงมีความสำคัญมาก

คลิปอีจันแนะนำ
ชื่นชม ตำรวจฮีโร่ บุกชาร์จตัวชายคลั่งบนสะพาน