🔊 Home isolation แนวทาง ผู้ป่วยโควิด รักษาที่บ้าน แก้ปัญหา เตียงเต็ม !

กรมการแพทย์ แนะ Home isolation แนวทางสำหรับ ผู้ป่วยโควิด รักษาตัวเองที่บ้าน แก้ปัญหา เตียงเต็ม พร้อมเผยเงื่อนไข ใครทำได้บ้าง ?

หลังจากอีจันได้รับเรื่องราวร้องเรียนขอเตียงของผู้ป่วย นั่นก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า วิกฤติเตียงไม่พอ รองรับผู้ป่วย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลับมาอีกครั้งแล้ว !

ทางด้าน กรมการแพทย์ จึงได้มีแนวทางปรับการรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ พยาบาล ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลสนาม สามารถบริหารจัดการเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้

พร้อมทั้งได้เผยแพร่แนวทาง Home isolation หรือก็คือ การแยกกักตัวที่บ้าน

เพื่อเป็นแนวทางสำหรับ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่

1. ระหว่างรอ admit โรงพยาบาล

2. แพทย์พิจารณาว่ารักษาที่บ้านได้

3. รักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วันและจำหน่ายกลับบ้านเพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านโดยวิธี Home isolation

ผู้ที่เข้าเกณฑ์การทำ Home isolation

1. เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดีหรือ ไม่มีอาการ (asymptomatic cases)

2. มีอายุน้อยกว่า 60 ปี

3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

4. อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1คน

5. ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้าหนักตัว > 90 กก.)

6. ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD Stage 3,4 ) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่นๆตามดุลยพินิจของแพทย์

7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผย หากผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัดซึ่งในระหว่างนั้นให้ปฏิบัติดังนี้

1.ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว

2.ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

3.แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่นหากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ

4.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเองไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร

5.สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย

6.ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น

7.แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ

สิ่งสำคัญ คือ หมั่นสังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่

และเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถสาธารณะ พร้อมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง

หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศเพื่อความปลอดภัยแก่คนรอบข้าง

แต่อย่างไรก็ตาม Home isolation เป็นเพียงแนวทางของการแยกกักตัวอยู่บ้านของผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ และอายุน้อยกว่า 60 ปีเท่านั้น

แต่ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก การรักษาตัวเองอยู่บ้านอาจทำได้ไม่ดีพอ จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล แต่เมื่อโรงพยาบาลเตียงไม่พอรองรับคนไข้ ระหว่างนี้จึงจำเป็นต้องใช้วิธีสังเกตอาการร่วมกับการติดตามอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

วิกฤตเตียงไม่พอ กลับมาอีกครั้ง หมอ แนะ ป่วยโควิด ติดอยู่บ้าน มีวิธีดูแลตัวเอง ?