
โควิด 19 เป็นโรคที่ยังต้องระวังและดูแลตัวเองให้ดี
วันนี้ (14 มี.ค.66) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับข้อมูลภาวะลอง โควิด (Long COVID) ในเด็กจากงานวิจัยของประเทศญี่ปุ่นไว้อย่างน่าสนใจ
เริ่มที่สถานการณ์โควิด 19 วันนี้ทั่วโลกติดเพิ่ม 45,914 คน ตายเพิ่ม 278 คน รวมแล้วติดไป 681,605,045 คน เสียชีวิตรวม 6,812,238 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย ไต้หวัน โรมาเนีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ สถานการณ์ติดเชื้อในญี่ปุ่นหลังจากเผชิญโควิด-19 มาแล้ว 8 ระลอก ผลสำรวจแอนติบอดี้ พบว่า ประชากรอายุช่วง 20 -40 ปี ติดเชื้อไปราว 50% ในขณะที่วัยรุ่นนั้นติดเชื้อไปราว 60%
ขณะที่งานวิจัยล่าสุดจาก Fai Wan EY และทีมงานมหาวิทยาลัยฮ่องกง ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วป่วยนอนโรงพยาบาล จำนวน 16,495 คน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2565 พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัส Molnupiravir และกลุ่มที่ได้รับยา Paxlovid นั้นจะช่วยลดเสี่ยงเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้ราว 13% และ 23% ตามลำดับ
ส่วนภาวะ Long COVID ในเด็ก พบได้ราว 23%
โดย Zheng YB และคณะ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน ทำการทบทวนงานวิจัยทั่วโลกอย่างเป็นระบบ และทำการวิเคราะห์อภิมานเพื่อดูอัตราความชุกของภาวะ Long COVID ในเด็ก พบว่า มีงานวิจัยทั้งสิ้น 40 ชิ้น กลุ่มประชากรรวม 12,424 คน ลักษณะอาการผิดปกติเรื้อรังที่เกิดขึ้นนั้นคล้ายในผู้ใหญ่ เกิดได้ทุกระบบในร่างกาย
ทั้งนี้ยังพบอีกว่า ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่เป็น Long COVID นั้น ราว 14.89% จะยังคงมีอาการผิดปกติอย่างน้อย 1 อาการ ใน 12 เดือนหลังติดเชื้อ
นอกจากนี้ในเด็กที่อายุเกิน 10 ปีขึ้นไป จะเสี่ยงที่จะมีอาการ Long COVID มากกว่า และจะเสี่ยงที่จะเกิดภาวะอักเสบในหลากหลายอวัยวะ (MISC) มากกว่า
ดังนั้นพ่อแม่หมั่นสังเกตอาการลูกที่เคยติดโควิดนะคะ และดูแลตัวเองให้ดี สวมแมสก์ทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เลี่ยงอยู่ในที่แออัด